เปิดแนวรบใหม่!?! สถาบันวิจัยอิสระสหรัฐติดตาม ‘เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจีน’ 11 แห่งผ่านดาวเทียม ชี้กระทบประเทศลุ่มน้ำโขง

2466

สหรัฐยกระดับตรวจสอบเขื่อนจีนในแม่น้ำโขง โดยองค์กรอิสระสหรัฐใช้ดาวเทียมติดตาม จับตาเขื่อนจีนทุกแห่ง ซึ่งมีอยู่ 11 แห่งตั้งอยู่ด้านบนลุ่มแม่น้ำโขง อ้างเป็นภัยต่อประเทศท้ายน้ำ ขณะที่สถาบันวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนของจีน แย้งว่าเก็บกักน้ำให้พลังงานไฟฟ้าแบ่งปันประเทศเพื่อนบ้านด้วย และช่วยเก็บน้ำยามน้ำหลาก บรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง จับตายุทธการชิงมวลชนรอบลำน้ำโขง เพราะปัญหาแม่น้ำโขงกระทบประโยชน์ร่วมของประชาชนหลายประเทศ ทั้งพม่า-ไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม ถือเป็นการเปิดแนวรบใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่าง 2 มหาอำนาจสหรัฐ-จีน

แม่น้ำโขงซึ่งมีความยาว 4,350 กิโลเมตร มีชื่อเรียกว่า “ล้านช้าง” ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีน ก่อนจะไหลลงใต้เข้าสู่เขตแดนพม่า, ลาว, ไทย, กัมพูชา และออกสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนามโดยมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เรียกว่า “เก้ามังกร”

สนข.รอยเตอร์สรายงาน วันที่ 14 ธ.ค. ศูนย์สังเกตการณ์เขื่อนแม่น้ำโขงของสถาบันวิจัยสติมสัน ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ เปิดตัวโครงการใช้ดาวเทียมเพื่อติดตามและตรวจสอบระดับน้ำในเขื่อนของจีนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง

ไบรอัน อีเลอร์ จากสถาบันวิจัยสติมสัน เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวตรวจสอบเขื่อนอย่างน้อย 11 แห่งโดยระบุว่าเขื่อนทุกแห่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของโรงไฟฟ้าในประเทศจีนเป็นหลักโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบท้ายน้ำที่ซึ่งผู้คน 60 ล้านคนต้องพึ่งพาแม่น้ำเพื่อการประมงและการเกษตร

ไบรอัน อีเลอร์ จากสถาบันวิจัยสติมสัน

ขณะที่จีนปฏิเสธการวิจัยดังกล่าวของสหรัฐ โดยสถาบันวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนของจีนกล่าวเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ว่า ไฟฟ้าพลังน้ำนั้นมีประโยชน์ต่อเพื่อนบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างชัดเจน และการกักเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากจะช่วยป้องกันทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง

ยุทธการช่วงชิงมวลชน

จีนและสหรัฐมีความขัดแย้งกันในทะเลจีนใต้ และทั้งสองประเทศยังมีหน่วยงานคู่แข่งซึ่งทำงานร่วมกับประเทศลุ่มน้ำโขง โดยฝั่งจีนมีความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงซึ่งตั้งอยู่ในปักกิ่ง และสหรัฐมีความร่วมมือแม่โขง-สหรัฐ และไทยเป็นสมาชิกทั้งสองกลุ่ม

ทั้งนี้สหรัฐฯ เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อติดตามและเผยแพร่ข้อมูลระดับน้ำในเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีน ผ่านดาวเทียม

ความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ทำให้มันกลายเป็นแนวรบในการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มาช้านาน  รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธผลวิจัยของสหรัฐฯ ที่อ้างว่าการสร้างเขื่อนของจีนส่งผลให้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงตอนล่างลดลงต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชากร 60 ล้านคนในประเทศปลายน้ำซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงในการทำการเกษตรและการประมง

โครงการ The Mekong Dam Monitor (https://www.stimson.org/project/mekong-dam-monitor) ของศูนย์สติมสัน-วอชิงตันดีซี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามระดับน้ำในเขื่อนของจีนและประเทศอื่นๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้แบบเกือบเรียลไทม์ตั้งแต่วันอังคารที่ 15 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป

ทางศูนย์ยังจัดทำตัวชี้วัด “ความชื้นระดับพื้นผิว” (surface wetness) ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใดในภูมิภาคที่ชุ่มชื้นหรือแห้งแล้งกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำตามธรรมชาติมากน้อยเพียงใด “โครงการนี้จะช่วยนำเสนอข้อมูลที่ยืนยันว่า เขื่อนหลักของจีน 11 แห่งมีการบริหารจัดการที่ซับซ้อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำให้ได้มากที่สุดสำหรับจำหน่ายไปสู่มณฑลทางตะวันออกของจีน โดยปราศจากความใส่ใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำ” ไบรอัน เอย์เลอร์ จากศูนย์สติมสันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุ

จีนสัญญาว่าจะแบ่งปันข้อมูล?

จีนวิพากษ์วิจารณ์ผลการศึกษาของสหรัฐฯ รวมถึงงานวิจัยของ Eyes on Earth ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของโครงการ Mekong Dam Monitor ที่ระบุว่า เขื่อนจีนกักน้ำไว้จนเป็นเหตุให้ประเทศเพื่อนบ้านต้องประสบภัยแล้งอย่างหนักเมื่อปี 2019

“สหรัฐอเมริกาไม่สามารถแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ทั้งหมด” สถาบันวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนของจีน (China Renewable Energy Engineering Institute) ระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2563 สถาบันแห่งนี้อ้างว่า “เขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำล้านช้างสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศเพื่อนบ้านริมแม่น้ำโขงอย่างชัดเจน” เช่น การกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากที่ช่วยป้องกันทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้แก่ประเทศที่อยู่ปลายน้ำ

เมื่อต้นปีนี้ จีนรับปากว่าจะแชร์ข้อมูลระดับน้ำต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมและประสานงานจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืนเพื่อผลประโยชน์ร่วมระหว่างประเทศสมาชิก

จีนและสหรัฐฯ ยังแข่งกันจัดตั้งกลไกปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, ไทย และจีน และความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership)