Truthforyou

อดีตรองอธิการฯ มธ. ลากไส้ม็อบทำไมอยากเลิก ม.112 ลั่นไม่ใช่เพื่อส่วนรวมแน่นอน

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ดังนี้ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ลองเปรียบเทียบประมวลกฎหมายอาญาทั้ง 2 มาตรา ส่วนที่ต่างกันที่เป็นสาระสำคัญจริง ๆ ก็คืออัตราโทษเท่านั้น การกำหนดอัตราโทษที่สูงกว่า สำหรับการหมิ่นประมาท หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์พระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทประมุขสูงสุดของประเทศ เป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุผล

การจะให้ยกเลิกมาตรา 112 แล้วให้พระมหากษัตริย์ใช้มาตรา 326 เช่นเดียวกับคนทั่วไป เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ประการที่ 1 การจะให้พระมหากษัตริย์ทรงดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทเอง และเป็นคู่กรณีกับคนทั่วไป เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิของพระมหากษัตริย์ในการปกป้องพระเกียรติของพระองค์

ประการที่ 2 การมีกฎหมายปกป้องคุ้มครองประมุขสูงสุดของประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้ไม่ได้มีทุกประเทศ แต่การที่บอกว่า ไม่ยอมรับกฎหมายนี้ เนื่องจากไม่เป็นสากล เพราะประเทศอื่น ๆ ไม่มี เป็นการบิดเบือนจากความจริง

เหตุผลข้อดียวที่ฟังขึ้นในการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยใช้อ้างกัน คือ เปิดโอกาสให้มีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ด้วยการใช้มาตรานี้แจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากใครก็สามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีนี้ได้

ปัญหาข้างต้นน่าจะแก้ได้โดยไม่ต้องยกเลิกมาตรา 112 กล่าวคือ ให้กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียว่าผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจะเป็นใครได้บ้าง เช่น กำหนดให้ผู้ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษได้คือ เลขาธิการสำนักพระราชวัง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น

การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับเป็นการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่อยากจะกล่าวหา โจมตีด้วยคำหยาบคาย ล้อเลียน หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ กระทำได้อย่างสะดวก เพราะไม่ต้องกลัวถูกดำเนินคดี

ดังนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการยกเลิกมาตรา 112 จึงเป็นบุคคลประเภทดังกล่าว ประชาชนทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย เพราะประชาชนทั่วไป ไม่ได้มีความประสงค์จะทำผิดกฎหมายมาตรานี้อยู่แล้ว

นอกจากมาตรา 112 ยังมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 133 ที่มีไว้เพื่อปกป้องกษัตริย์ หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ผู้ฝ่าฝืนตัองระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี ซึ่งหากยกเลิกมาตรา 112 โดยไม่แตะต้องมาตรานี้ จะหมายความว่าอย่างไร

การเรียกร้องที่เน้นให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในขณะนี้ จึงดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเพื่อส่วนรวมจริง แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อตัวเองและพรรคพวก ที่กำลังถูกดำเนินคดีกันเป็นระนาว และเพื่อจะได้สามารถจาบจ้วงล่วงละเมิดกันให้สนุกปากได้ต่อไป เสียมากกว่า”

Exit mobile version