สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยพร้อม!?! หนุนรัฐดันไทย “ฮับผลิตถุงมือยางธรรมชาติโลก” ชิงตลาด 3.6 แสนล้านชิ้นปี ’64

2107

สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย (TRGMA) เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราไทย ตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดยางโลก 20% ชิงดีมานด์ปี 2564 จำนวน 3.6 แสนล้านชิ้น วอนรัฐบาลเร่งเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ สนับสนุนด้านการเงิน เพิ่มองค์ความรู้ด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายตลาดส่งออก สมาคมฯพร้อมรุกเจรจากลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย มั่นใจศักยภาพไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบและคุณภาพสินค้า พร้อมเป็นฮับผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยหรือ The Thai Rubber Glove Manufacturers Association (TRGMA) เปิดเผยว่า ได้วางนโยบายผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยให้ขยายการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทุกด้าน เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกรองรับความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 20% จากปัจจุบัน 15% 

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 20% อยู่ที่ราว 3.6 แสนล้านชิ้น คาดว่าในปีหน้า ความต้องการจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 10% จึงถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบไทยผู้ผลิตถุงมือยางของไทยในการขยายตลาด เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตถุงมือยาง 19 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 4.6 หมื่นล้านชิ้น กว่า 88% หรือราว 3.8 หมื่นล้านบาท สัดส่วนแบ่ง เป็นถุงมือยางทางการแพทย์ และกว่า 90% ของถุงมือยางของไทยที่ผลิตได้เป็นการส่งออกขายต่างประเทศ เป็นอันดับ 2 ของโลก

ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก หลังจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างมาเลเซียและจีนได้ขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจีนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกในระดับใกล้เคียงกับประเทศไทย จากปัจจุบันที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกถุงมือยางมีส่วนแบ่งตลาด (จากปริมาณการขาย) เป็นอันดับ 2 ของโลก  

สำหรับสมาคมฯ ได้วางแผนเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย ได้แก่ 

1.การประสานงานกับภาครัฐเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ รองรับการลงทุนขยายกำลังการผลิต  

2.ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านการผลิตและส่งเสริมผู้ประกอบการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ 

3.ประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาล เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขยายกำลังการผลิตและตลาดส่งออกในทุกภูมิภาคทั่วโลก 

นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้าประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดส่งออก โดยการเจรจากับกลุ่มประเทศต่างๆ ที่จะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าถุงมือยางจากประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าในบางประเทศที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการมาเลเซียยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่มุ่งหวังจะผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม 

อย่างไรตาม มีความมั่นใจในศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและความพร้อมด้านแหล่งวัตถุดิบและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่มีคุณภาพดี เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่อันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน จึงเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้าทั่วโลก 

“สมาคมฯ พร้อมเป็นหน่วยงานเพื่อประสานกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพเพื่อขยายกำลังการผลิตให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งยังมีข้อจำกัด เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน กฎระเบียบผังเมือง การขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน” นายวีรสิทธิ์ กล่าว