9เดือนเอสเอ็มอีฟื้นตัว!?! ส่งออกเพิ่ม 8.47% มูลค่า 1.44 ล้านล้านบาท อาเซียนสูงสุด ตามด้วยจีน-ยุโรป- ญี่ปุ่น

2074

สสว. เผย เอสเอ็มอี เริ่มฟื้นตัวจากโควิด ช่วงไตรมาส 3 มีสัดส่วนจีดีพีเพิ่มเป็น 35% คาดปี 2565 เข้าสู่ภาวะปกติ มีสัดส่วน 42% ของจีดีพี ในด้านส่งออกสินค้ารวมมูลค่า 1.44 ล้านล้านบาท เพิ่ม 8.47% ลูกค้าเอสเอ็มอีส่งออกหลักไปยังอาเซียน รองลงมาเป็นจีน ยุโรปและญี่ปุ่นตามลำดับ

รายงานข่าวจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ เริ่มมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวขึ้น โดยมีการส่งออกสินค้ารวม 1.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 1.64 ล้านล้านบาท ลดลง 9.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตลาดหลักที่ส่งออกสินค้าช่วง 9 เดือนแรกสูงสุด ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาคือ จีน กลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา สินค้าที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ

การนำเข้าสินค้าสูงสุด ได้แก่ จีน รองลงมา คือ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา สินค้าที่นำเข้าสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองลงมาคือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า

สำหรับการจัดตั้งกิจการใหม่ช่วง 9 เดือน มีจำนวน 46,341 ราย หดตัวลง 18.02% จากปีก่อน โดยกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ อสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ

ทาด้านการจดทะเบียนยกเลิกกิจการ มีจำนวน 10,206 ราย เพิ่มขึ้น 7.5% จากปีก่อน ซึ่งกิจการที่ยกเลิกมากสุด ได้แก่ ขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย การให้คำปรึกษาด้านการจัดการ และขายส่งเครื่องจักร

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มค้าขายทั่วไปเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะผลจากโครงการคนละครึ่งก็ยิ่งทำให้กำลังซื้อเศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว ซึ่งได้ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน และทำให้เอสเอ็มอีขายสินค้าได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ยอดขายโดยรวมของเอสเอ็มอียังไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม ยังคงลดลงจากภาวะปกติประมาณ 30% ซึ่งบางส่วนที่ยอดขายลดลงมาจากการการเลือกสินค้าเข้ามาขายลดลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

“ในภาคเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีขณะนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤตโควิดไปแล้ว ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดรอบ 2 ภายในประเทศ ธุรกิจเอสเอ็มอีก็จะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ยอดขายจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมก็ตเองใช้เวลาอีกพอสมควรจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะยุติ เพราะในช่วงโควิดประชาชนต่างซื้อของลดลง”

ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะรายเล็ก เนื่องจากไม่ใช้กลุ่มเป้าหมายของลูกค้าที่เข้าโครงการ “ไทยเที่ยวไทย” เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้าโครงการนี้จะเลือกไปโรงแรมขนาดใหญ่มากกว่า รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยยังไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติล้วนแต่ยังคงย้ำแย่ ดังนั้นภาครัฐควรจะต้องปรับปรุงโครงการไทยเที่ยวไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

“ในช่วงเดือน ม.ค.2564 จะเป็นเดือนสุดท้ายสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของรัฐบาล ซึ่งเอสเอ็มอีจะต้องเริ่มมาผ่อนจ่ายชำระหนี้ให้กับธนาคารต่างๆ”

ดังนั้นหากโควิดกลับมาแพร่ระบาดในช่วงดังกล่าวและรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์รอบ 2 ก็จะยิ่งซ้ำเติมเอสเอ็มอีอย่างรุนแรงทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ ส่งผลให้มีโอกาสที่จำนวนเอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับภาวะเอสเอ็มอีในปี 2564 หากไม่มีการระบาดรอบ 2 มองว่าเอสเอ็มอีจะเริ่มลงทุนเปลี่ยนระบบการผลิตและการบริหารจัดการ โดยมุ่งปรับตัวตามตลาดที่เปลี่ยนไปหลังการระบาด รวมทั้งจะปรับเปลี่ยนมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกด้าน ตั้งแต่ระบบการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการบริการ ที่จะเข้มข้นมากกว่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด รวมทั้งจะเกิดผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเทค เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจที่เปลี่ยนไป

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของ เอสเอ็มอี ในขณะนี้ได้เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดแล้ว โดยจากผลสำรวจในไตรมาส 3 พบว่าสัดส่วนรายได้ของ เอสเอ็มอี ต่อจีดีพี ได้เพิ่มขึ้นเป็น 35% สูงกว่าไตรมาส 2 ที่อยู่ในระดับ 32% ส่วนในปี 2564 ยังคาดการณ์ได้ยาก เพราะต้องดูวัคซีนโควิดว่าจะมีผลแค่ไหน และจะมีการแพร่ระบาดในไทยรอบ 2 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2565 จะเข้าสู่สภาวะปกติ และสัดส่วนของจีดีพีรายได้ของเอสเอ็มอีต่อจีดีพี จะขึ้นมาอยู่ในระดับ 42% ตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ สสว. จะมุ่งเน้นการค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าให้กับเอสเอ็มอีในช่วงโควิด และหลังจากโควิด จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่การค้าออนไลน์ได้มากขึ้น โดยล่าสุดได้จัดทำโครงการพัฒนากลไกกลางเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดในปี 2563 เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยมีสมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นหน่วยร่วมดำเนินโครงการสร้าง e-Marketplace Platform ชื่อ Star Market เพื่อเป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ สำหรับจัดจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ