หมอธีระวัฒน์ แนะคัดกรองคนหมู่มากใช้เจาะเลือดปลายนิ้วหาโควิด ศบค.รายงานวันนี้ติดเชื้อ 11 ราย

2358

จากรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้ (11 ธ.ค. 2563) ระบุว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์ข้อมูล COVID 19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่เพิ่ม 11 ราย มาจากต่างประเทศและเข้ากักกันทั้งหมด

สำหรับผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ได้แก่ สวีเดน 1 ราย เป็นชายสวีเดนอายุ 54 ราย ทำสวนดอกไม้ ต่อเครื่องที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงไทยวันที่ 26 พ.ย. เข้าพักใน ASQ กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 8 ธ.ค. (Day 12) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เที่ยวบินเดียวกันมีผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 2 ราย

สหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นหญิงอเมริกัน อายุ 23 ปี อาชีพครู ต่อเครื่องที่อินโดนีเซียถึงไทยวันที่ 27 พ.ย. เข้าพักใน ASQ กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 9 ธ.ค. (Day 12) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ

โปรตุเกส 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 43 ปี แม่ครัว ต่อเครื่องที่เนเธอร์แลนด์ถึงไทยวันที่ 28 พ.ย. เข้าพักใน SQ ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 9 ธ.ค. (Day 11) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เที่ยวบินเดียวกันมีผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 5 ราย

ซาอุดิอาระเบีย 2 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 34 ปี ช่างแต่งหน้า ต่อเครื่องที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถึงไทยวันที่ 28 พ.ย. เข้าพักใน SQ ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 9 ธ.ค. (Day 11) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เที่ยวบินเดียวกันมีผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 ราย อีกรายเป็นนักเรียนหญิงไทยอายุ 16 ปี ต่อเครื่องที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถึงไทยวันที่ 8 ธ.ค. เป็นผู้ป่วย PUI ที่สนามบิน ตรวจหาเชื้อวันที่ 8 ธ.ค. (Day 0) ผลพบเชื้อ มีไข้

เกาหลีใต้ 1 ราย เป็นชายเกาหลีใต้อายุ 36 ปี ช่างติดตั้งแอร์ เดินทางถึงไทยวันที่ 3 ธ.ค. เข้าพักใน ASQ กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 8 ธ.ค. (Day 5) ผลพบเชื้อ มีน้ำมูก เที่ยวบินเดียวกันมีผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า

เมียนมา 3 ราย เป็นหญิงไทย 2 ราย อาชีพพนักงานสถานบันเทิง อายุ 28 ปี และ 29 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 4 ธ.ค. เข้าพักใน LQ เชียงราย ตรวจหาเชื้อวันที่ 9 ธ.ค. (Day 5) ผลพบเชื้อ รายแรกปวดศีรษะ รายที่สองเจ็บคอ และชายไทยอายุ 33 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 6 ธ.ค. เข้าพัก LQ เชียงราย ตรวจหาเชื้อวันที่ 8 ธ.ค. (Day 2) ผลพบเชื้อไม่มีอาการ

บาห์เรน 2 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 28 ปี และ 30 ปี รับจ้าง ต่อเครื่องที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถึงไทยวันที่ 8 ธ.ค. เป็นผู้ป่วย PUI ที่สนามบิน ตรวจหาเชื้อวันที่ 8 ธ.ค. (Day 0) ผลพบเชื้อ รายแรกไม่มีอาการ รายที่สองมีไข้

ขณะที่ทางด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุ “การเจาะเลือด ว่องไว ปลายนิ้ว rapid test น่าจะเป็นวิธีตอบโจทย์การตรวจคัดกรองคนหมู่มาก ตั้งแต่ ชายแดน การประกอบกิจกรรมคนหมู่มาก รวมทั้ง ผู้ป่วยที่เข้ามาฉุกเฉิน ที่ต้องรักษาด่วนและต้องมีปฎิบัติการช่วยชีวิตเป็นต้น

และถ้า “เลือดบวก” แสดงว่า มี “ติดเชื้อ” ก็ตามต่อด้วยการแยงจมูกเป็นระยะ ๆ ที่ทำตามปกติ ว่าปล่อยเชื้อหรือไม่? เพราะการจมูกหาเชื้อ เชื้ออาจตรวจไม่เจอในการแยงครั้งแรก ต้องแยงในวันต่อ ๆ มา

การเจาะเลือดปลายนิ้ว ข้อดีก็คือ ไม่ต้องแยงจมูก “ทุกคน” คนละหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ต้องกักตัว ซึ่งการต้องแยงจมูก ลำคอ มีความเสี่ยง โดยเวลาแยงต้องหมุน เพื่อจะได้ไวรัสออกมามาก ๆ มาตรวจ และคนแยงแน่นอนมีความเสี่ยง เพราะมีละอองฝอยเชื้อ หลุดกระจายออกมาได้

ชุดตรวจปลายนิ้วเป็นของบริษัท สตาร์ทอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนักวิทยาศาสตร์ของคณะเภสัชศาสตร์

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ ดร.วรัญญู พูลเจริญ กับทีมวิจัยที่ได้ทำการพัฒนาการผลิตยา และวัคซีน และโปรตีนจาก ใบยาพืช มีประสบการณ์มามากกว่า 12 ปี และรายงานในวารสารระดับโลก เกี่ยวช้องกับการผลิตเซรุ่ม ที่ฉีดแผลเมื่อถูกหมาบ้ากัด รวมยาที่ต่อต้านเชื้อไวรัส มือเท้าปาก EV 71 และวัคซีน covid-19 (รายละเอียด วารสาร ตีพิมพ์ ภายใต้ชื่อ waranyoo phoolcharoen)

และใบยาพืชดังกล่าว ได้สามารถผลิตยา monoclonal antibodies ลักษณะเหมือนกับที่พยายามจะใช้พลาสมาจากคนที่หายจากการเป็นโรคและเอามารักษาคนติดเชื้อและวัคซีน ต่อ โควิด 19 ได้แล้ว แถลงข่าว ใหญ่ วัคซีน โควิด 19 จากใบยา วันที่ 14 ธันวาคม 2563”