เงินสำรองระหว่างประเทศของไทย พุ่งสูงสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่ 2.8 แสนล้านUSD คิดเป็น 8.5 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติการ ทั้งๆที่เงินบาทแข็ง แต่เงินทุนไหลเข้าไม่หยุด อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า การมีเงินสำรองต่างประเทศสูงหมายถึง ธปท.นำเงินไปแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างมากหรือเปล่า อาจทำให้เราเสียประโยชน์จากดอกเบี้ยที่พึงได้ แต่จะว่าไปยุคนี้ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดินอยู่แล้ว ถ้าเป็นการแทรกแซงประคองไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไปก็น่าจะส่งผลดีกว่าปล่อยให้เป็นธรรมชาติส่งออกจะลำบาก ธปท.คงต้องดูแลภาคการเงินการคลังให้สมดุลต่อไป
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวของเงินสำรองระหว่างประเทศ(รายสัปดาห์)
ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พบว่าอยู่ที่ 280,697.88 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ 279,908.13 ล้านดอลล่าร์สรอ. นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา!!! และเมื่อเทียบกับระดับโลก ประเทศไทยยังคงรั้งตำแหน่งอันดับ 12 ของโลกใน ด้านปริมาณเงินทุนสำรองฯไว้อย่างเหนียวแน่น
เงินสำรองฯมูลค่า 280,697.88 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หากเทียบเป็นเงินบาทไทยจะอยู่ในมูลค่าที่ 8,501,777.48 ล้านบาท
“เงินสำรองฯ เป็นเครื่องมือชี้วัดความสำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หากเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติค่าเงินเช่นที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกัน”
ที่เงินสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาขนาดนี้ เป็นเพราะกระแสเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงจากผลกระทบโควิด-19 แต่ทว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างสวนกระแส จากการไหลเข้าของเงินลงทุนไทยที่เคยลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามา รวมถึงเงินทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันให้ค่าเงินบาท อาจมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นอีกในปีหน้า
โดยหลักๆ การแข็งค่าของเงินบาท เปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างชาติอื่นๆ สาเหตุส่วนใหญ่มีผลมาจากความต้องการเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท โดยสิ่งที่อาจจะแตกต่างกันไปในการแข็งค่าของเงินบาทในแต่ละครั้ง อยู่ที่ปัจจัยหรือสาเหตุที่ส่งผลทำให้ความต้องการเงินบาทมีการเพิ่มขึ้น
หลังจากช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราค่าเงินบาทของไทยได้ปรับตัวแข็งค่าลงมาใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง หลังจากที่เคยแข็งค่าในระดับนี้ไปล่าสุดเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้ว และมันส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 3% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาในเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นยอดที่สูงที่สุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วที่มียอดการไหลของเงินทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท
ส่วนสาเหตุหลักๆ ที่ส่งผลให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับทิศทางการลงทุนของเงินลงทุนต่างประเทศที่มีการปรับย้ายเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และผลการพัฒนาวัคซีนที่เป็นไปในเชิงบวก ทำให้เกิดมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรสหรัฐ มาเลือกหาผลตอบแทนที่สูงในตลาดเอเชียที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีและสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง
ซึ่งการเข้ามาของเงินทุนในเดือนพฤศจิกายนนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสเงินทุนที่จะมีการไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะในปีหน้าการไหลเข้าของเงินทุนก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอีก อันเป็นผลมาจากความต้องการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ (Search for yield) ที่คงยังมีอยู่ต่อไป และส่งผลให้มีแนวโน้มการเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่จะกดดันแนวโน้มค่าเงินบาทไทยให้มีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นอีกในปีหน้า ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การเกินดุลการค้าของไทย
ทำให้ภาครัฐเป็นห่วงว่า จะเข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ปัจจุบันถูกกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยภาคการส่งออก ซึ่งเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่มีผลต่อจีดีพี จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีสายป่านสั้น ทำให้กระทรวงการคลังประกาศย้ำว่า นโยบายการเงินที่ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะต้องสอดประสานและผ่อนคลายกับนโยบายการคลัง เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับนโยบายการเงินนั้น เริ่มมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตอนนี้ธปท.ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ จากเดิมที่จะเน้นให้น้ำหนักเงินเฟ้อ ที่เดิมหากผ่อนคลายนโยบายการเงินนานไป จะส่งผลต่อเสถียรภาพการเงิน ฟองสบู่เศรษฐกิจ แต่ในสถานการณืตอนนี้ทุกประเทศมองว่า สิ่งที่จะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจที่สุด คือ จีดีพียังไม่ฟื้นกลับมา อันนั้นคือสิ่งที่น่ากังวลที่สุด จึงคิดว่าทางธปท.เองก็อยากให้เศรษฐกิจฟื้นเหมือนกัน
จากนี้เราคงต้องจับตาดูนโยบายทางการคลัง และนโยบายทางการเงิน ที่กระทรวงคลังฯและธนาคารกลาง ออกมาเพื่อพยุ่งความเสียหายและฟื้นฟูเศรษฐกิจกันต่อไป
**ธปท. ยัน บาทแข็ง ยังไม่ถึงคิวอี(QE) – ผู้ว่าธปท.กล่าวว่า มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการที่จะออกมารองรับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีการกล่าวถึงจำนวนมากเรื่องของการทำคิวอี ซึ่งการที่ต่างประเทศทำคิวอี เพราะต้องการอัดสภาพคล่องเข้าระบบเพื่อให้บอนด์ยิลด์ต่ำลง เพราะการไฟแนนซ์ต่างประเทศพึ่งพิงตลาดบอนด์เป็นหลัก แต่ว่า ต่างจากไทยที่พึ่งพาเงินจากระบบแบงก์หรือธนาคาร และปัจจุบันนี้สภาพคล่องล้นระบบ แต่เรามีปัญหาของการกระจายสภาพคล่อง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ
“ถามว่า(การทำคิวอี) เป็นโจทย์เราหรือเปล่า ปัจจุบันสภาพคล่องล้น แต่ประเด็นปัญหา คือ การกระจายสภาพคล่อง เป็นเรื่อง Credit Risk วิธีการแก้ไข คือ การเข้าไปค้ำประกัน ไม่ใช่ทำคิวอี ทำคิวอี แทบตาย สภาพคล่องก็ไม่ไปหาเอสเอ็มอี มันก็ไม่เกิดประโยชน์”
ขอบคุณ:ThaiDevelopmentReport
เงินสำรองระหว่างประเทศ(Foreign Exchange Reserves) คืออะไร?? สำคัญไฉน?? สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่: https://www.facebook.com/ThaiDevReport/photos/a.1289629471179341/1559796467495972/?type=3
https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=94&language=TH
https://www.facebook.com/ThaiDevReport/photos/a.1289629471179341/1998370136971934/?type=3