“ถาวร”เบรกไม่โอน 3 สนามบินให้ทอท.!?! สั่งทย.ลุยขยายรันเวย์ อัดงบ 5,186 ล้านบาท เดินแผนพัฒนาปี ’64

9560

ถาวร เบรกบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เข้าบริหารสนามบินกระบี่-บุรีย์รัมย์-อุดรฯ มั่นใจกรมท่าอากาศยาน (ทย.)มีศักยภาพบริหารได้ เร่งทย.ขยายรันเวย์เพิ่มรองรับการเดินทางภายในประเทศ ตั้งข้อสังเกต AOT ควรลงทุนในสนามบินที่มีรายได้น้อยช่วยรัฐแทนเลือกเอาแต่ที่กำไร เพราะสนามบินเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดทำขึ้นเพื่อบริการประชาชนเหมือนรถโดยสาร เรือโดยสารสาธารณะ  หากจะมีการเปิดกว้างต้องเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นๆเข้ามาร่วมประมูลไม่ผูกขาดเพียงรายเดียว รัฐจะได้ผลตอบแทนสูงสุดเช่นกรณีสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ได้มีการพิจารณาแนวทางการโอนสนามบินไปให้ ทอท.มาครั้งหนึ่ง และรมช.ถาวรได้แสดงความเห็นไว้ว่า ไม่น่าจะทำได้ เนื่องจากอาจมีประเด็นที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากท่าอากาศยานเป็นทรัพย์สินของ ทย. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ หากมีการโอนไปให้ ทอท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผู้ลงทุนอื่นถือหุ้นอยู่ด้วยจะกลายเป็นลักษณะการโอนทรัพย์สินของราชการไปให้เอกชนหรือประชาชน ผู้ดำเนินการอาจกระทำผิดกฎหมายได้ ส่วนประเด็นที่จะจ้าง ทอท.บริหารท่าอากาศยานนั้น หาก ทอท.เข้ามาในพื้นที่และมีการใช้ทรัพยากรหรือ พนักงานข้าราชการ ของ ทย. ก็มีประเด็นที่สุ่มเสี่ยงจะขัดต่อกฎหมายอีก ดังนั้น แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ แนวทางที่ 3 การให้ ทอท.เช่าบริหารพื้นที่และมีการลงทุนเพิ่ม เมื่อครบอายุสัญญาเช่าทรัพย์สินสนามบินก็ยังเป็นของราชการ แต่ล่าสุดพิจารณาแล้ว ทย.มีศักยภาพทำให้เกิดกำไรในสนามบินที่อยู่ในทำเลดี ก็ไม่จำเป็นต้องให้ทอท.มาบริหารสนามบินที่กำไรอยู่แล้ว

สนามบินที่ยังขาดทุน-ทอท.สนใจไหม?

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในส่วนการพิจารณาในการโอนสนามบินของ ทย.บางแห่งให้บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. บริหารจัดการนั้นว่า ขณะนี้คณะทำงานของกระทรวงคมนาคม กำลังพิจารณาที่จะนำสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่,บุรีรัมย์,อุดรธานี ให้ทอท.บริหารนั้น เหตุผลโดยตนเห็นว่าควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากสนามบินของทย. ไม่ได้แสวงหากำไร และผลตอบแทนทางการเงิน โดยคำนึงถึงความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อีกทั้ง ทย.มีความสามารถในการบริหารจัดการเองโดยไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ได้มีหนังสือถึงและอดีตปลัดคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาการโอนสนามบิน เพื่อขอให้พิจารณาโดย ยึดหลักฎหมาย ความโปร่งใส เปิดกว้างเป็นธรรม เท่าเทียมเป็นประโยชน์ต่อราชการ ประโยชน์สาธารณะ และผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ รวมทั้งจัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลดี ผลเสียให้ครบถ้วน ครอบคลุมทุกด้านเสียก่อน และดำเนินการให้มีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการดำเนินงานที่โปร่งใส มีกลไกการตรวจสอบที่ดี

สำหรับ ทย.มีสนามบินในความรับผิดชอบ 29 แห่ง โดยมี 6 แห่ง (กระบี่, นครศรีธรรมราช, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี) ที่สามารถทำรายได้จากค่าธรรมเนียมสนามบิน (PSC) เข้ากองทุนหมุนเวียนสนามบิน 600-700 ล้านบาท/ปี เพื่อช่วยอุดหนุนสนามบินที่มีรายได้น้อย ส่วนรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ จะต้องนำส่งเข้าคลัง ข้อสังเกตของรมช.คมนาคมคือ ทอท.ควรลงทุนสนามบินที่มีรายได้น้อยเพื่อช่วยเหลือภาครัฐ

อีกทั้ง สนามบินเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่บริการให้ประชาชนได้รับความสะดวกเหมือน รถเมล์ รถไฟ ที่ขาดทุนแต่รัฐต้องบริหารจัดการเพื่อประชาชน หากบอกว่า สนามบินควรมีกำไร ควรจะต้องเปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเสนอเข้าไปได้ ไม่ใช่จำเพาะเจาะจง และสนามบินของ ทย.ไม่ใช่เรื่องที่ต้องจำเพาะเจาะจง ยกตัวอย่าง สนามบินอู่ตะเภา มีการเปิดกว้างและเลือกรายที่เสนอผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุด 3 แสนล้านบาท บริหาร หากจะเอาสนามบินทย.หารายได้ให้รัฐและมีบริการที่ทันสมัย รวดเร็วและไม่ต้องการใช้ระบบราชการ ก็ต้องเปิดกว้าง

นายถาวร กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาขยายศักยภาพของสนามบิน วงเงินรวม 14,000 ล้านบาท ได้แก่ กระบี่, นครศรีธรรมราช ,ขอนแก่น ,ตรัง นราธิวาส,สุราษฎรฺธานี,บุรีรัมย์ ,อบลราชธานี,ร้อยเอ็ด ให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

สำหรับงบประมาณปี 2564 มีงบลงทุนประมาณ 5,186 ล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์และราคากลาง เพื่อจัดซื้อจัดจ้างกลางเดือนม.ค. 2564 เช่น

  1. โครงการขยายต่อเติมความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานตรังจาก 2,100 เมตรเป็น 2,990 เมตร วงเงิน 1,800 ล้านบาท
  2. โครงการขยายต่อเติมความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 2,100 เมตรเป็น 2,900 เมตรและขยายลานจอดลานจอดเครื่องบิน วงเงิน 950 ล้านบาท
  3. โครงการเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่มจาก 5 ลำเป็น 12 ลำ และก่อสร้างทางขับขนาน วงเงิน 1,800 ล้านบาท
  4. โครงการขยายลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานขอนแก่น และปรับปรุงทางวิ่งให้ได้มาตรฐานและขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่มจาก 5 ลำเป็น 12 ลำ เป็นต้น วงเงิน 500 ล้านบาท

รมช.คมนาคม กล่าวอีกว่า ได้ติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบปีงบประมาณปี 2563 ซึ่งยังมีโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามผูกพันในสัญญา และให้ทย.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุกรณีงบประมาณตั้งแต่ปี 2557-2562 มีแผนงานถูกพับไป 12 รายการ วงเงินรวม 228 ล้านบาท มีสาเหตุจากการประมาทเลินเล่อ หรือหย่อนประสิทธิภาพหรือเป็นการดำเนินการที่ดำเนินการไม่ถูกต้องและส่อให้ทางราชการเกิดความเสียหายอย่างไรหรือไม่ โดยให้เสนอของบในปี 64 หรือปี 65 มาเร่งดำเนินการให้เรียบร้อย

การบริหารงบประมาณปี2564 ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และมีระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน โดยจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดปัญหาต้องแก้ไขสัญญาภายหลัง เช่น แบบไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ควรมีคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาแบบให้สมบูรณ์มากที่สุด รวมถึงกรณีที่ ทย.มีกองก่อสร้างรวมศูนย์แห่งเดียว ทำให้การกำกับติดตาม งานก่อสร้างที่มีอยู่ทั่วประเทศ 29 สนามบินอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจต้องปรับโครงสร้างเพิ่มกองก่อสร้าง ,การจัดทำทีโออาร์ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมบัญชีกลาง

สำหรับการเปิดให้บริการสนามบินเบตง จ.ยะลา นั้น นายถาวรกล่าวว่า จะเลื่อนกำหนดจากเดิมที่จะเปิดในเดือนธ.ค. 63 ออกไป 1-2 เดือน หรือภายในเดือนก.พ. 64 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการนำร่อนเครื่องบิน และตอบคำถามสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ให้เรียบร้อยภายในเดือนธ.ค. ก่อนออกใบอนุญาตสนามบินได้ โดยขณะนี้มีสายการบินนกแอร์(NOK) และบางกอกแอร์เวย์ที่สนใจและได้ยื่นเสนอให้รัฐช่วยสนับสนุนลดหย่อนและสิทธิพิเศษในการเปิดเส้นทางบิน มอบให้นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิจารณาและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ตนได้ให้ข้อสังเกตในเรื่องการดูแลรักษาและป้องกันอัคคีภัย เนื่องจากสนามบินออกแบบใช้ไม้ไผ่ตกแต่ง

“ขณะนี้คณะทำงานฯ กำลังพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งผมยังยืนว่า ทย. มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในการบริหารงานได้เหมือนกัน และผมยังรู้สึกหวงอยู่ เพราะ ทย. มี 6 สนามบิน ที่สามารถหารายได้ เพื่อไปเลี้ยงสนามบินเล็กๆ ให้สามารถบริการประชาชนต่อไปได้ นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตให้คณะทำงานฯ ไปด้วยว่า หากจะให้มีการลงทุนบริหารในสนามบินของ ทย. ควรเป็นท่าอากาศยานที่มีรายได้น้อยจะดีกว่าเข้ามาบริหารสนามบินที่มีรายได้จำนวนมากอยู่แล้ว” นายถาวรกล่าว  นอกจากนี้ ได้ติดตามในเรื่องของมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสายการบิน ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์จากโรคดังกล่าว โดยกรมท่าอากาศยานได้มีมาตรการ ดังนี้ 

1.การปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน และที่จอดอากาศยาน ของผู้ประกอบการสายการบิน ลดลง 50% ในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม 2563 

2.ลดอัตราเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานในสังกัด ทย. 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนคม-31 สิงหาคม 2563 อาทิ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ และสายการบิน เป็นต้น

3.ปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับทุกกิจกรรมในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนด ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทุกราย เป็นระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 ธันวาคม 2563 4.ขยายระยะเวลาการชำระเงินให้ผู้ประกอบการภายในทำอากาศยานทุกราย ในการทำสัญญาเช่า ซึ่งดำเนินการแล้วถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ จากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สั่งการให้ทุกท่ากาศยาน และทุกสายการบินเคร่งครัด เข้มงวด ตามข้อกำหนดของศบค. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำต่อไป