Truthforyou

พระมหากษัตริย์และชาติไทยที่ไม่เคยล้าหลัง โดยดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

จากที่วันนี้(5ธ.ค.63) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้บทเสนอบทความ โดยระบุเนื่องใน 5 ธันวาคม 2563 ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ประเทศไทย นับคร่าวๆ เป็นเอกราชมาร่วม 7-800 ปี อาจไม่นำหน้าในเอเชียหรือในโลก แต่เราก็ไม่เคยล้าหลังใคร หากเดินตาม และ ประยุกต์เข้ากับอารยธรรมที่ดีเลิศของเอเชีย และของโลกได้ทันเสมอ อย่างน่าทึ่ง

การที่พระมหากษัตริย์สยาม-ไทย เลือกตั้งราชธานีใกล้ทะเล เข้าถึงทะเลง่ายดาย คือ บริเวณ อยุธยา-กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ นั้น กำหนดให้ประเทศต้องหันหน้าออกสู่ทะเลสู่โลก ประเทศเรามีทั้งบกมีทั้งทะเล แต่ที่ตั้งราชธานีกำหนดให้ทะเลนำบก กรุงศรีอยุธยาอยู่ในภูมิศาสตร์ที่รับเอาอารยธรรมพราหมณ์ พุทธ อิสลาม จาก อินเดียและลังกา มาตลอด และภายหลังก็รับของดีของใหม่จากตะวันตกอย่างรวดเร็วอีกด้วย  พม่าก็ติดทะเล แต่เมืองหลวงพม่า พุกาม อังวะ มัณฑะเลย์ ห่างทะเลเป็นพันกิโลเมตร พม่ามีทั้งบกและทะเลเช่นเรา แต่พระมหากษัตริย์พม่าเลือกราชธานีที่ทำให้ บกนำทะเล

ไม่ใช่ที่ตั้งเท่านั้น แต่เรามีพระมหากษัตริย์ ที่มีพระปรีชาญาณทางการต่างประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ สมเด็จพระนารายณ์ เมื่อกว่าสามร้อยปีมาแล้ว มีพระดำริให้ขุดคอคอดกระ ขยายคลองกระให้เรือเดินสะดวก ซึ่งแม้เราในทุกวันนี้ก็ยังไม่กล้าขุด พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ยังอ่านสถานการณ์ในยุโรปออกด้วยว่าขณะนั้น ฝรั่งเศสที่ห่างไทยมีกำลังขึ้นมาทัดเทียมหรือเหนือกว่าสเปน-โปรตุเกส ที่เราคุ้นเคย จึงทรงส่งโกษาปานไปเชื่อมพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อให้ สยามปลอดภัย เพราะ คบหามหาอำนาจตะวันตกทุกฝ่ายอย่างได้ดุลย์

สมเด็จพระนเรศวร เมื่อกว่าสี่ร้อยปีที่แล้ว นอกจากจะรบชนะพม่าอย่างเด็ดขาดแล้ว ยังทรงดำเนินการทูตที่เฉียบแหลม ด้วยทรงเห็นว่าจีนกับญี่ปุ่น มหาอำนาจทางโลกตะวันออก กำลังขัดแย้งกัน แย่งชิงเกาหลี ไว้ในอิทธิพล ทรงเล็งเห็นว่าจีนนั้นน่าจะเอาชนะญี่ปุ่น จึงเสนอต่อจีนว่าจะส่งช้างพันเชือกไปช่วยรบ น่าจะทรงเล็งว่า หากเราเข้าข้างจีนผู้ชนะ หลังจากเสร็จศึกนั้น เราอาจจะขอสิทธิพิเศษทางการค้าจากจีน ได้

มิพักต้องพูดถึงพระมหากษัตริย์ แห่งรัตนโกสินทร์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงคำนวนวันเวลานาทีที่จะเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ เพราะทรงศึกษาวิทยาการของฝรั่งจนถึงกับคำนวนเวลาถิ่นของคาบสมุทรไทย เมื่อเทียบกับเวลาโลกได้อย่างแม่นยำนั่นเอง ส่วนล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรสจำนวนมากไปเรียนต่อในยุโรป มากมายหลายประเทศ

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงศึกษาที่ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ส่วนล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงศึกษาที่อีตันและที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สท  ทั้งสองพระองค์เสด็จไปศึกษาในอังกฤษตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ความรู้ความเข้าใจพระองค์ท่านต่อศาสตร์และวิถีชีวิตตะวันตก เมื่อพิจารณาเช่นนี้ น่าจะแตกฉานและลึกซึ้งเสียยิ่งกว่าของผู้นำคณะราษฎรเสียอีก เพราะพวกหลังนี้ไปเรียนนอกกันเมื่อโตแล้วทั้งสิ้น

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 นั้นเล่า ทรงพระราชสมภพนอกประเทศเสียด้วยซ้ำ คือที่เยอรมัน ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ทรงพระราชสมภพในดินแดนตะวันตก ที่เรียกว่า “โลกใหม่” เลย คือในสหรัฐอเมริกานั่นเอง ทรงศึกษาแต่ทรงพระเยาว์จนถึงชั้นมหาวิทยาลัยที่โลซาน สวิสเซอร์แลนด์ ทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมันได้เป็นอย่างดี ส่วนในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ทรงเข้าศึกษาในชั้นมัธยมที่อังกฤษ และวิชาทหารที่ออสเตรเลีย

ก็ด้วยเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงรู้ทั้งไทย ทั้งเทศ ทรงเข้าใจทั้งเรื่องในประเทศ และเรื่องของโลก ไทยจึงแทบจะไม่เคยล้าสมัย อยู่ในกระแสโลกตลอด เอาของดีและวิทยาการทั้งไทยและเทศมาผสมผสาน กัน เราอยู่ในโลกอย่างดี อย่างที่ภาคภูมิใจด้วยที่เราเป็นไทยด้วย ได้เสมอมา

Exit mobile version