นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยทิศทางเศรษฐกิจปี 2564 จะเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวเป็นบวกได้แน่นอน โดยประเมินว่าจะโตอยู่ในช่วง 4-4.5% ต่อปี ถือว่าสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ารอบนี้การฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี กางแผนปลุกกำลังซื้อในประเทศต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบการจัดเก็บภาษี เล็งเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศและอีคอมเมิร์ซ ขณะต่างชาติดำเนินการไปก่อนแล้วทั้ง แคนาดา ออสเตรเลีย ยุโรปฯ สรรพากรประเมินอย่างต่ำเก็บได้ปีละ 3,000 ล้านบาท
มั่นใจปีหน้าฟื้นดันจีดีพีถึง 4-4.5%
รมว.คลังกล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องล็อกดาวน์กว่า 3 เดือน กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักไปเกือบหมด แต่คนไทยยังสามารถดำเนินชีวิตได้ เพราะแม้ว่าร้านอาหารปิด แต่ก็มีบริการส่งถึงบ้าน มีระบบโลจิสติกส์ต่าง ๆ มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ปรับตัวได้เร็ว ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจ แต่ภาครัฐบาลก็ต้องปรับตัวเช่นกัน
“ในช่วงล็อกดาวน์ไม่เป็นที่น่าสงสัยว่า จีดีพีของประเทศไทยติดลบมา 2 ไตรมาส ไตรมาส 3 ก็ยังติดลบ แต่น้อยลงเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา แต่ไม่หวือหวาเพราะกำลังซื้อมีเฉพาะในประเทศ ขณะที่กำลังซื้อภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ใหญ่มากยังไม้ฟื้น ขณะนี้เริ่มมีต่างชาติกลับเข้ามาแต่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ นักการทูต ต้องได้รับอนุญาต แม้ความหวังเรื่อง “วัคซีน” มาแล้ว แต่จะสามารถเปิดรับการเดินทางของผู้คนทั่วโลกได้เหมือนเดิมยังคงต้องติดตามสถานการณ์”
เดินหน้ากระตุ้นกำลังซื้อ
รมว.คลังกล่าวว่า เรายังต้องพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ไม่พูดถึงเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องแม้เป็นช่วงโควิด-19 แต่เรื่องการใช้จ่ายในประเทศแม้จะไม่สามารถช่วยทำให้เข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้ แต่มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก็เป็นการประคับประคอง โดยเพิ่มการใช้จ่ายของประชาชน และรัฐเข้าไปช่วยจ่ายแบ่งเบาภาระ ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน, ช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง ทั้งหมดเป็นการเข้าไปกระตุ้นการใช้จ่ายโดยที่รัฐบาลเข้าไปช่วยจ่าย
“สิ้นเดือน ธ.ค.นี้คนละครึ่งเฟสแรกก็จะหมดลง ซึ่งเราได้เตรียมเงินไว้ประมาณ 3 หมื่นล้าน เพื่อช่วยเหลือกำลังซื้อภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้มองเห็นสัญญาณการบริโภคในช่วงต้นปี’64 ยังอ่อนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องต่ออายุมาตรการคนละครึ่งออกไปอีก 3 เดือน รวมทั้งมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน”
นโยบายการเงินต้องหนุนฟื้น ศก.นายอาคมกล่าวว่า เรื่องระบบนิเวศทางการเงิน เรื่องค่าเงินบาท เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่กระทรวงการคลังก็ได้หารือร่วมกัน เนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังจะต้องสอดประสานกัน เพราะหากนโยบายการเงินไม่เอื้ออำนวยให้ทางด้านการคลังสามารถที่จะใช้จ่ายเงินได้ เศรษฐกิจก็ไปต่อไม่ได้
“โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งการฟื้นฟู กระทรวงการคลังก็อยากจะเห็นนโยบายด้านการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน และเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายเงินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือ หรือการลงทุน นโยบายการเงินจะต้องสอดประสาน ไม่ใช่ว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น นโยบายการเงินก็เข้มงวดขึ้นมา ซึ่งเราพูดคุยกันว่าต้องให้การฟื้นตัวเต็มที่” นายอาคม
เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ-ปรับระบบภาษี
สำหรับปีหน้า 2564 เรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีอิทธิพลกับทุกภาคส่วน ด้านธุรกิจ ด้านการแพทย์ โดยธุรกิจออนไลน์จะเข้าไปอยู่ในเกือบทุกเรื่อง ขณะที่ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ก็จะมีอิทธิพลมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานสำคัญในการรับจ่ายเงินของประเทศ ก็จะต้องพัฒนาเรื่องนี้ต่อไป โดยปี 2564 ก็มีแผนเชื่อมโยงบริการพร้อมเพย์กับประเทศสิงคโปร์
รมว.คลังกล่าวอีกว่า ในส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจก็จะต้องเปลี่ยน ที่ผ่านมารัฐบาลมีการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรม new S-curve แต่ปีหน้ากระทรวงการคลังจะโฟกัสออกแบบระบบภาษีใหม่เพื่ออำนายความสะดวกใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล กลุ่มนี้จะเป็นสตาร์ตอัพจำนวนมาก, กลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกลุ่มธุรกิจสุขภาพ (เฮลท์) “นี่คือ 3 กลุ่มธุรกิจที่จะโฟกัสจาก 10 อุตสาหกรรมใหม่ เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จากที่ประเทศไทยพึ่งพาภาคบริการมาก ต้องใช้เรื่องดิจิทัล”
เก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติ
รมว.คลังกล่าวว่า ในขณะที่รายจ่ายของภาครัฐมีมากขึ้น และขณะที่ระบบการจัดเก็บรายได้ยังเหมือนเดิม รายการลดหย่อนมากขึ้น ๆ ประเด็นเรื่องรายรับของรัฐบาลไม่ได้พูดมานาน ดังนั้น ในปี 2564 กระทรวงการคลังจะเดินหน้าเรื่องการเก็บภาษีธุรกรรมบริการออนไลน์ (e-Service) โดยเฉพาะบริการออนไลน์จากผู้ให้บริการต่างประเทศ ไม่ได้รีจิสเตอร์ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้หลาย ๆ ประเทศเร่งดำเนินการอยู่ สำหรับกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา นี่ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย
ผู้ประกอบการต่างชาติที่มาให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ถ้ามีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกับผู้ให้บริการในประเทศไทย
ต่างชาตินำร่องไปก่อนแล้ว
ปัจจุบันกว่า 50 ประเทศ ก็สามารถดำเนินการให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการภายในประเทศแล้ว แม้กระทั่งอินเดียก็ทำเรื่องนี้ได้แล้ว
กระทรวงการคลังแคนาดาเปิดเผยว่า แคนาดาวางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีจากบริษัทที่ให้บริการด้านดิจิทัลตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป และจะบังคับใช้ต่อไปจนกว่าประเทศต่างๆ จะมีแนวทางร่วมกันในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กำลังพิจารณาหาแนวทางร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นใจว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล เช่น กูเกิล และ เฟซบุ๊ก จะจ่ายภาษีธุรกิจดิจิทัล การเรียกเก็บภาษีใหม่ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 และจะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าประเทศต่างๆ จะมีข้อตกลงร่วมกัน โดยมาตรการดังกล่าวจะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลกลางแคนาดา 3.4 พันล้านดอลลาร์แคนาดา (2.6 พันล้านดอลลาร์) ในระยะ 5 ปีซึ่งจะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2564-2565