หมอจุฬา ชำแหละ ต้นตอโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก แก๊งสาวลักลอบข้ามแดน ทำไมถึงเสี่ยงสูง

2179

หลังจากที่จังหวัดเชียงรายเจอแจ็กพอตอีก พบผู้ป่วยโควิดฯ ทีเดียว 4 คน เป็นผู้ที่ติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ข้ามแดนโดยถูกต้อง 3 คน ส่วนอีก 1 เป็นสาวประเภทสอง เพื่อนสาวพะเยาวัย 25 ปี ตระเวนเที่ยว พักด้วยกัน ทั้งงานที่สิงห์ปาร์ค ก่อนไปเชียงใหม่ ถือเป็นผู้รับเชื้อ ติดเชื้อในประเทศรายแรกของเคสนี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 ทางด้านนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผวจ.เชียงราย นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และ นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมเปิดแถลงข่าว รายงานสถานะการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 4 คน

โดย 3 รายแรก เป็นผู้แจ้งเจ้าหน้าที่ประสานงานชายแดน หรือ ทีบีซี ขอเดินทางข้ามจาก จ.ท่าขี้เหล็ก เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. จำนวน 6 คน ผลตรวจพบเป็นบวก ติดเชื้อโควิดฯ 3 คน ผลเป็นลบ 3 คน

ส่วนรายที่ 4 เป็นผู้ชาย (สาวประเภทสอง) ใกล้ชิดกับหญิงสาวชาว จ.พะเยา อายุ 25 ปี ที่ลักลอบข้ามแดนทางทาง อ.แม่สาย เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ไปเที่ยวงานดนตรี ที่สิงห์ปาร์คด้วยกัน นอนห้องเดียวกัน จากนั้นวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. ข้ามไปเที่ยวเชียงใหม่ แล้วกลับมาเชียงรายอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อชายรายล่าสุดนี้ ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นผู้รับเชื้อ ติดเชื้อในประเทศรายแรกของกรณีนี้ ตามมาด้วยสาวสิงห์บุรี อายุ 51 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากนั่งเครื่องบินไฟลท์เดียวกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมียนมาร์ขยับเข้าใกล้หลักแสนรายเข้าไปทุกที ขณะยอดสังเวยชีวิต เมื่อนับจากวันพฤหัสบดี (3ธ.ค.) ทะลุ 2,000 คนแล้ว โดยคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาของเมียนมาร์ ระบุว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 ในเมียนมาร์เสียชีวิตเพิ่มอีก 30 คนเมื่อวันพฤหัสบดี ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 2,028 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม จำนวน 2 ราย แต่ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วของเมียนมาร์เพิ่มเป็น 95,018 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1,418 รายเมื่อวันพฤหัสบดี และมีผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้ว 73,748 ราย ถึงขณะนี้เมียนมาร์ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว 1,225,134 ราย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : คนไทยในท่าขี้เหล็ก เลยต้องรีบเผ่นกลับ? เมียนมาสาหัส สังเวยโควิดทะลุ 2,000 ราย ยอดติดเชื้อใกล้แตะหลักแสนแล้ว

ล่าสุดทางด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีศึกษาของกลุ่มที่ลักลอบเข้าเมืองทางภาคเหนือ

1. ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ทำให้สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ง่ายและมากกว่าคนที่ไม่มีอาการ

2. ไม่เคร่งครัดในการป้องกันตัวเอง ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก ล้างมือ หรือรักษาระยะห่างจากคนอื่น แชร์ของกินของใช้ร่วมกัน เช่น แชร์บุหรี่

3. ใช้ชีวิตเสี่ยงสูง ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้มีอาการไม่สบาย ไม่ได้อยู่กับที่ ตะลอนไปทั่ว หลากหลายจังหวัดหลายภูมิภาค รวมถึงไปในที่แออัดที่อโคจร ได้แก่ คอนเสิร์ต ผับบาร์ แหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดที่เป็นที่นิยม

4. เดินทางโดยหลากหลายทางร่วมกับคนใกล้ชิดและประชาชนทั่วไป ตั้งแต่รถส่วนตัว มอเตอร์ไซค์ รถตู้ รถบัส เครื่องบิน

5. เคราะห์ซ้ำกรรมซัดคือ การ์ดของแต่ละพื้นที่ไม่แข็งแรง ดังจะเห็นได้จากภาพวีดิโอที่เห็นจากงานคอนเสิร์ต รวมถึงข้อมูลที่สื่อนำเสนอเกี่ยวกับลักษณะสถานประกอบกิจการเสี่ยงสูงที่คับแคบ ระบายอากาศไม่ดี เบียดเสียดแออัด นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่ได้ลงทะเบียนหรือเช็คอินแอพติดตามตัว

ดังนั้นพอความเสี่ยงครบถ้วนเช่นนี้ ทางการแพทย์จึงมองแทบไม่เห็นผลลัพธ์อื่นใด นอกจาก”การต้องมีการแพร่เชื้อจากกลุ่มผู้ติดเชื้อไปยังคนภายในประเทศอย่างแน่นอน”

แต่จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับโชคชะตาของประเทศ ว่าระหว่างที่เกิดเหตุการณ์เสี่ยงเหล่านั้น มีคนรับเชื้อไปโดยไม่รู้ตัวมากน้อยเพียงใด รู้เพียงแต่ว่าต้องมีแน่นอน ถ้าไม่มีเลยแปลว่าความรู้วิชาการแพทย์นี้ไม่ถูกต้อง

สุดท้ายแล้วเราก็พบว่ามีการติดเชื้อในประเทศจริง ดังที่เห็นจากเคสเชียงรายล่าสุดที่ติดเชื้อจากการให้ที่พักแก่กลุ่มลักลอบเข้าเมือง และไปเที่ยวโน่นนี่นั่นกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เคสผู้หญิงที่สิงห์บุรีซึ่งไปเชียงราย และมีโอกาสสัมผัสเชื้อได้หลายที่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคนั้น ก็เป็นหลักฐานชัดเจนตอกย้ำว่ามีการติดเชื้อ
จะมีการจะระบาดวงกว้างหรือไม่ ตอนนี้ผมตอบว่า อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่เราสามารถช่วยกันควบคุมป้องกันได้ โดยมือของทุกคน
ถึงเวลาที่จะต้องป้องกันตัวเอง ครอบครัว และพื้นที่ที่เราอยู่ครับ ใส่หน้ากากเสมอเวลาออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาไปจับต้องสิ่งของสาธารณะ เจอใครก็ต้องพยายามอยู่ห่างจากเค้าอย่างน้อยหนึ่งเมตร พบปะคนให้น้อยลงสั้นลง ใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ติดต่อกันทางไกลแทนการเจอหน้า เลี่ยงที่แออัดคนเยอะหรือระบายอากาศไม่ดี และหากไม่สบาย ไม่ควรไปทำงาน ไม่ควรไปเรียน และควรไปตรวจรักษา


จากการที่ผู้ติดเชื้อไปหลายจังหวัด หากเราทบทวนตัวเองแล้วสงสัยว่าอาจไปอยู่ในที่เสี่ยง ก็ต้องสังเกตอาการตนเอง 14 วัน หากไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย ก็ต้องรีบไปตรวจ

ในช่วงนี้ ส่วนตัวแล้วประเมินว่า หากจะไปในพื้นที่เสี่ยง ก็ควรไปยามที่จำเป็นจริงๆ และไปอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ เลือกที่พักที่ไม่แออัด ไปไหนหากคนเยอะ ควรเลี่ยงไปที่อื่นแทน ไปกินไปดื่มที่ไหนในพื้นที่เสี่ยงหากใช้อุปกรณ์ส่วนตัวได้ก็จะดี หรือกิจการร้านค้าหันไปใช้อุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้งก็จะช่วยได้เยอะ
ช่วยกันสู้ อยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน ด้วยรักต่อทุกคน