พาณิชย์-เกษตร-ธกส.กดปุ่มจ่ายชาวนา!?! 8.79 แสนครัวเรือน ชดเชยส่วนต่างข้าวหอมมะลิสูงสุด 40,000 บาท

1874

รัฐบาลเดินหน้ามาตรการช่วยชาวนา 1.เงินชดเชยส่วนต่าง “ประกันรายได้ข้าว” 5 ชนิด งวดถัดไปโอนให้ผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 9 ธ.ค.นี้ 2.เงินช่วยข้าว ไร่ละ 1,000 บาท แบ่งเป็น 2 งวด งวดละ 500 บาท 3-5 ธ.ค.และ3.สินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือก ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ฟรีดอกเบี้ย 5 เดือน คิกออฟตั้งแต่ 3 ธันวาคมเป็นต้นมาคาดประคองเศรษฐกิจแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ท่ามกลางความยากลำบาก การระบาดโควิด-19 และเศรษฐกิจโดยรวมค่อยๆฟื้น

จากการที่รัฐบาลได้อนุมัติ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 มีเกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 8.79 แสนครัวเรือน ซึ่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินให้กับธนาคารแต่ละสาขา วันที่16 พ.ย.2563 งวดแรกไปแล้ว

เงินประกันรายได้ข้าว-ชดเชยส่วนต่าง

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ได้นำเรื่องขอเพิ่มวงเงินงบประมาณในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 โดยกระทรวงพาณิชย์จะขอวงเงินเพิ่มเติมอีก จำนวน 28,711 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด 

โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้จ่ายให้กับชาวนาไปแล้วจำนวน 18,096 ล้านบาท เริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การจ่ายชดเชยส่วนต่างสำหรับงวดแรกและงวดต่อไปก็จะจ่ายทุกสัปดาห์ และรอบต่อไปจะเป็นวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเกษตรกรจะได้ส่วนต่างสูงสุดคือ 40,000 บาท จากการปลูกข้าวหอมมะลิ

สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 วงเงิน 28,046 ล้านบาท คาดว่าจะจ่ายให้เกษตรกรผ่านบัญชีของเกษตรกรโดยตรง ตั้งแต่วันที่ 1-5 ธันวาคม 2563 จำนวนเกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 4.35 ล้านครัวเรือน

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ฝากถึงพี่น้องเกษตรกร เงินส่วนต่าง ‘ประกันรายได้ข้าว’ งวดถัดไปโอนให้ 9 ธ.ค.นี้ ส่วนเงินช่วยสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเกษตรกรจะได้สูงสุดรายละ 20,000 บาทนั้น จะจ่ายให้ครึ่งหนึ่งก่อนซึ่งเป็นเงินไร่ละ 500 บาทโดยจะเริ่มจ่ายวันที่ 3-5 ธันวาคม 2563 นี้

ทั้งนี้ มติที่ประชุม ครั้งที่ 27/2563  เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 รอบที่ 1 (งวดที่ 4) ระบุวันที่คาดจะเก็บเกี่ยวถึงวันที่ 23-29  พฤศจิกายน 2563 สำหรับข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

ราคาประกัน   

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ                   ตันละ  12,100.57 บาท

2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่        ตันละ   11,951.04 บาท

3.ข้าวเปลือกเจ้า                         ตันละ   9,122.47 บาท

4.ข้าวเปลือกหอมปทุม                  ตันละ   9,960.97 บาท

5.ข้าวเปลือกเหนียว                     ตันละ   11,066.61 บาท

สำหรับ การชดชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง มีอัตราส่วนต่างที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกณ์การเกษตรใช้ในการจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำหรับการจ่ายเงินงวดที่ 4 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้

ราคาชดเชย 

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ                        ตันละ  2,899.43 บาท

2.ข้าวเปลือกมะลินอกพื้นที่                   ตันละ  2,048.96 บาท

3.ข้าวเปลือกเจ้า                              ตันละ  877.53 บาท

4.ข้าวเปลือกหอมปทุม                       ตันละ  1,039.03 บาท

5.ข้าวเปลือกเหนียว                          ตันละ  933.39 บาท

ธ.ก.ส.เปิดโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือก 

ฟรีดอกเบี้ย 5 เดือน และสินเชื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี วงเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาท

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า  ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการภายใต้มาตรการคู่ขนานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 

1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 63/64 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยมีเป้าหมายการจ่ายสินเชื่อจำนวน 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก ณ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 ซึ่งข้าวเปลือกชนิดสีได้ต้นข้าวต่ำกว่า 20 กรัม ไม่รับเข้าร่วมโครงการ และข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม)

กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ -ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 10,400 – 11,000 บาท/ตัน -ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 8,900 -9,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน -ข้าวหอมปทุม 7,300 บาท/ตัน และ-ข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน 

วงเงินรวม 15,284 ล้านบาท โดยเกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึง 28 ก.พ.64 และภาคใต้ตั้งแต่เดือน มี.ค.-31 ก.ค.64 กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้ โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ย

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 63/64 เพื่อช่วยให้สถาบันเกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการช่วยดูดซับปริมาณข้าวเปลือกในตลาด โดยรวบรวมและรับซื้อข้าวจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปนำมาเก็บรักษาตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อรอการขายหรือนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี 

โดยสถาบันเกษตรกรจะได้รับวงเงินกู้ตามศักยภาพ แผนธุรกิจ และไม่เกินวงเงินที่นายทะเบียนกำหนด ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 ก.ย.64 กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ตามรอบธุรกิจแต่ไม่เกิน 31 ธ.ค.64