อัษฎางค์ อบรมนร.แต่งไปรเวท กฎระเบียบหายต่อไปอาจได้เห็นพระมีคิ้ว ใส่ยีนส์บิณฑบาต?

16045

จากกรณีที่กลุ่มนักเรียนเลวได้ออกมาเรียกร้องข้อเรียกร้องต่าง ๆ ในระบอบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผล และบางข้อเรียกร้องที่เลยเถิดจนดูกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจมากกว่าเด็กนักเรียน รวมทั้งวิธีการแสดงออกที่เกือบจะก้าวร้าว

ต่อมา เพจ “ภาคีนักเรียนKKC” รวมถึงกลุ่มนักเรียนเลว นัดนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน 1 ธ.ค. 2563 พร้อมตั้งคำถามเครื่องแบบนักเรียนสำคัญจริงหรือ? โดย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “นักเรียนเลว” ร่วม “ภาคีนร.KKC” ปลุก เด็กแต่งไปรเวทไปสถานศึกษา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “อัษฎางค์ ยมนาค” “เครื่องแบบ และ ชุดนักเรียน” คือสิ่งที่ช่วยระบุตัวตนและสังกัด การสวมใสเครื่องแบบ (Uniform) หมายถึงการอยู่ภายใต้ข้อบังคับบางอย่าง รวมทั้งเป็นการแสดงตัวว่าตนเองอยู่ภายใต้สังกัดใด เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่ มีความเป็นหมู่คณะ มีลักษณะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน รวมทั้งเพื่อให้สามารถแยกแยะผู้คนออกจากกันได้

ลูกชายผมเรียนหนังสือที่ออสเตรเลีย ที่ออสเตรเลียนักเรียนประถม มัธยมทุกคนต้องใส่ชุดนักเรียน จะมีข้อแตกต่างเล็กน้อยระหว่างโรงเรียนที่เมืองไทยและออสเตรเลียคือ โรงเรียนต่าง ๆ ในออสเตรเลียกำหนดรูปแบบของชุดนักเรียนเอง ไม่ได้เป็นชุดนักเรียนเดียวกันทั้วประเทศ และในโรงเรียนเดียวกันก็มีแบบของชุดนักเรียนให้เลือกใส่หลายแบบ ทั้งเสื้อแขนสั้นและแขนยาว กางเกงขาสั้นและขายาว กระโปรงหรือชุดแซก มีเสื้อแจ็คเก็ต มีจั้มเปอร์ มีชุดพละ และนักเรียนประถมศึกษาทุกโรงเรียนต้องสวมหมวก

นักเรียนหญิงสามารถใส่ชุดนักเรียนชายได้ คือสวมเสื้อและกางเกงแบบนักเรียนชายได้ สาเหตุที่มีชุดให้เลือกหลายแบ เพราะสภาพภูมิอากาศ ในฤดูร้อนจะร้อนจัด และในฤดูหนาวจะมี 3 ฤดูหนาวซึ่งความหนาวเย็นต่างกัน จากหนาวน้อยไปหนาวจัด เพราะฉะนั้นจึงให้สิทธิ์นักเรียนเลือกใส่ตามความสะดวกและตามสภาพอากาศ ซึ่งข้อเสียอย่างหนึ่งของการที่มีชุดนักเรียนหลายแบบที่ตัวนักเรียนไม่เคยคิดถึง แต่พ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้คือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดนักเรียนก็สูงตามมา

และอย่าลืมว่าเด็กโตไว บางช่วงอายุ เพื่งซื้อชุดนักเรียนใส่มาได้ไม่ถึงปีก็ต้องเปลี่ยน และมันไม่ได้มีแค่แบบเดียว ส่วนเรื่องทรงผมนั้น ไม่มีการบังคับ ใครจะไว้ผมยาวสั้นอย่างไรก็ได้ ที่น่าแปลกใจสำหรับเราที่เป็นคนไทยคือ พอไม่มีการบังคับเรื่องทรงผม เด็ก ๆ ก็ไม่มีความต้องการจะแหกกฎ เด็กนักเรียนชายกว่า 90% ไว้ทรงปกติธรรมดา อีก 10% คือนักเรียนที่ชอบความเท่ห์ จะไว้ผมยาวไปเลย ส่วนเด็กเกเรแบบจิ๊กโก้จะไว้ผมสั้นติดหนังหัวแบบสกินเฮด

สมัยผมเป็นนักเรียน ก็มีอารมณ์ต่อต้าน และพูดตาม ๆ กันไป ว่าการแต่งตัวของนักเรียน ผมยาวหรือสั้น แต่งชุดนักเรียนถูกระเบียบหรือไม่ มันส่งผลอะไรต่อผลการเรียน

เมื่อโตมาแล้วจึงเข้าใจว่า…คนทุกคนในสังคม และองค์กรทุกองค์กร ทั้งบริษัทเอกชน กระทรวง ทบวง กรม หรือแม้แต่ศาสนาต่าง ๆ ทุกองค์กรล้วนมีเครื่องแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน เราอยู่บ้านจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อเราเป็นสมาชิกในสังกัดองค์กรใดๆ เราต้องสวมเครื่องแบบขององค์กรนั้น ๆ

มนุษย์เรามีพฤติกรรม 2 แบบคือในแบบที่อยากเป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่บางครั้งก็อยากเหมือนคน

ลองจินตนาการกันดูว่า พระสงฆ์ ประท้วงไม่ขอห่มจีวร ตำรวจ ทหาร ประท้วงไม่ขอสวมเครื่องแบบทหาร ตำรวจ ข้าราชการ อยากใส่ชุดทหาร พนักงานเอกชน อยากใส่ชุดตำรวจไปพบลูกค้า นักเรียนไม่อยากแต่งชุดนักเรียนไปโรงเรียน

ถ้าในโรงเรียนไม่มีใครใส่เครื่องแบบนักเรียน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เด็กที่มาใช้สถานที่และอุปกรณ์ของโรงเรียนเป็นนักเรียนที่จ่ายค่าเทอมกับโรงเรียนของเรา

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สนามฟุตบอลที่มีเด็กวิ่งเล่นเต็มสนามคือเด็กโรงเรียนเราที่จ่ายค่าเทอม ไม่ใช่เด็กที่อื่นแอบมาใช้สนามฟุตบอลจนเต็ม จนไม่มีที่ไห้เด็กนักเรียนตัวจริงได้เล่น

เมื่อทุกคนไม่อยากมีเครื่องแบบเพื่อประกาศตนว่าตนเองอยู่สังกัดองค์กรใด…

เราอาจจะเห็น…พระสงฆ์มีคิวใส่กางเกงยีสต์บิณฑบาต ข้าราชการในอำเภอใส่เสื้อกล้าม เซลล์แมนใส่ชุดคล้ายตำรวจ เรียกตรวจใบขับขี่ ตำรวจใส่กางเกงขาสั้นลากแตะเขียนใบสั่งปรับเงินเรา คนที่ไม่ใช่อาจารย์อยู่ในโรงเรียน คนที่ไม่ใช่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน ความเป็นระเบียบ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และที่สำคัญความปลอดภัย คือหัวใจของการสวมเครื่องแบบ ความปลอดภัยของความเป็นทหาร ตำรวจ พระสงฆ์ ครูนักเรียน จะอยู่ตรงไหน

เมื่อทุกคนทุกอาชีพสวมรอยกันไปมา เพราะไม่มีเครื่องแบบเฉพาะที่ระบุตัวตนของคนนั้น ๆ