จับตา!?! ดาวเด่นแวร์เฮ้าส์และธุรกิจเฮลท์แคร์เสน่ห์แรง ทุนญี่ปุ่น จองคิวดูพื้นที่-เคาะประตูลงทุนไทย รอไฟเขียวเปิดประเทศ

2645

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติต่างถูกจำกัดการลงทุนดำเนิกธุรกิจ  สำหรับ ‘ธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานปล่อยเช่า’ ในประเทศไทย ยังคงเป็น ‘ดาวเด่น’ เป็นที่ต้องการของนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยง ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์-สุขภาพ การแพทย์ ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นและจีน สั่งจองขอดูพื้นที่ล่วงหน้า เอกชนขอรัฐเปิดโปรแกรม “Business Bubble” มั่นใจ ต่างชาติเข้ามาตรึม 

กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า หลังจากหารือกับผู้บริหารของสภาหอการค้าญี่ปุ่น พบว่า ปัจจุบันมีนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นแสดงความจำนงขอเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยมากถึง 10,000 รายสะท้อนความต้องการที่อัดอั้นรอเวลา  ยังไม่นับรวมนักธุรกิจจากประเทศจีน ไต้หวัน และเยอรมัน ที่มีความต้องการเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากเชื่อมั่นในระบบการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไทย

รัชนี มหัตเดชกุลกรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.มั่นคงเคหะการ หรือ MK ผู้พัฒนาและบริหารเขตประกอบการอุตสาหกรรมและเขตปลอดอากร “โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน” ย่านบางนา-ตราด กม. 23 เปิดเผยว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมคลังสินค้า-ปล่อยเช่าโรงงาน (Warehouse) ยังถือว่าเป็นเซ็กเตอร์ที่สร้างการเติบโต ‘ระดับที่ดี’ ต่อเนื่อง แม้ว่าจะพบอุปสรรคของการแพร่ระบาดโควิด-19 บ้าง ส่งผลให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมชะลอตัว

ทั้งนี้หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าอุตสาหกรรมคลังสินค้าและปล่อยเช่าจะมีอัตราเติบโต ‘ระดับ40-50%’ เหมือนในปี 2562 แม้ว่าในปี 2563 จะมีการระบาดของโควิด-19 แต่ธุรกิจยังเติบโตได้ดี สะท้อนผ่านตั้งแต่ต้นปี 2563 ลูกค้าสนใจติดต่อเช่าคลังสินค้าและโรงงานจำนวนมาก แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดปัญหาเข้ามาดูพื้นที่ไม่ได้

ยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ หรือ Health care เช่น ธุรกิจผลิตถุงมือยาง , หน้ากากอนามัย ,เครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปถึงธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจอาหาร ที่มีนักลงทุนสนใจลงทุนในไทยจำนวนมาก

โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวถือเป็น ‘จุดแข็ง’ ของเมืองไทย เนื่องจากประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องของอาหารที่ช่วงล็อกดาวน์ประเทศเมืองไทยไม่ขาดแคลนอาหาร เนื่องจากมีวัตถุดิบเพียงพอต่อการบริโภค ทำให้นักลงทุนต่างเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก ในเรื่องของการมีวัตถุดิบเพียงพอหากจะเข้ามาลงทุน

สำหรับธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า ภายใต้ ‘โครงการ Bangkok Free Trade Zone:BFTZ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น ในทางกลับกันพบว่ามีกลุ่มลูกค้าต่างชาติเข้ามาติดต่อเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณเด่นชัดตั้งแต่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน (Trade war) ส่งผลให้จีนมองหาแหล่งผลิตและ ฐานกระจายสินค้าใหม่ ดังนั้นถึงถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจให้เช่า

BFTZสามารถเดินทางเข้าออกได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตร (กม.) 23 และ ถนนบางนา-ตราด กม.19 และมีการคมนาคมที่สะดวก โดยห่างจากท่าเรือคลองเตยเพียง 23 กม. ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 17 กม. และห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 90 กม. ทั้งนี้สามารถเดินทางไปยังเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะทาง 50 กม. มีบริการเสริมสำหรับอำนวยความสะดวกที่เตรียมไว้ให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ Consulting Service

ภายใน Bangkok Free Trade Zone นี้ มีอาคาร ให้เช่าแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.อาคารคลังสินค้า และ 2. อาคารโรงงาน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ สีม่วง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโรงงานในพื้นที่นี้ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขออนุญาต

อย่างไรก็ตามหากไทยเปิดประเทศเมื่อใดมีโอกาสที่นักลงทุนจีนจะเป็นสัดส่วนลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทได้เพราะปัจจุบันลูกค้าจีนจ่อขยายลงทุนเข้ามาอีกจำนวนมาก

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA เปิดเผยว่า คาดแนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลัง 2563 จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากรัฐบาลเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายและการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้านออกมาแล้ว หลังการระบาดของโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย

บริษัทต้องการให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายการอนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศแบบ Business Bubble เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ หากดูในภาพโดยรวมแล้วธุรกิจของบริษัทไม่ได้รบผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากนัก สะท้อนจากภาพตอนนี้ยังมีความต้องการลงทุนที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง