ปั้มหัวใจ SME ท่องเที่ยว?!!? เร่งเสริมสภาพคล่อง- รักษาจ้างงาน-พักชำระหนี้ ให้ธุรกิจเดินต่อรับแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวได้

1837

SMEท่องเที่ยวขาดสภาพคล่องรุนแรง กัดฟันประคองตัว โละพนักงาน ตัดต้นทุน กระทบคุณภาพและบริการลดลง ทั้งรอขายทิ้งอีกเพียบ ทุกฝ่ายระดมสมองแก้ปัญหาเสนอทีมเศรษฐกิจใหม่ วอนรัฐเร่งอัดฉีดสภาพคล่อง พักชำระหนี้และ รักษาการจ้างงานให้ทันมาตรการฟื้นฟูท่องเที่ยวด้วย

การระบาดโควิด-19 และ มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจได้รับผลกระทบหนักสุดคือ SMEs ตั้งแต่รายเล็ก ระดับกลาง จนไปสู่ธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจขนาดเล็กที่เกี่ยวเนื่องในด้านการท่องเที่ยว และมีเงินหมุนเวียนน้อยย่อมลำบากมากที่สุด แม้รัฐบาลประกาศมาตรการทั้งด้านการเงิน-การสร้างโอกาสใหม่ๆทางการตลาด ก็ยังเอาไม่อยู่ SME ยังโคม่า หลังประกาศทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ เสียงระงมดังขึ้นอย่างกว้างขวาง  ถ้ารัฐไม่รีบอัดฉีดอาจไม่เหลือหน่วยธุรกิจท่องเที่ยวมารองรับ มาตรการฟื้นฟูท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินหน้าในเดือนก.ย.นี้

สถานการณ์เอสเอ็มอีปัจจุบัน-ลมหายใจธุรกิจรวยริน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 เอสเอ็มอี 61.7% ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด รองลงมา 26.9% ได้รับผลกระทบปานกลาง และ 11.2% ได้รับผลกระทบน้อย ส่วน 0.2% ไม่ได้รับผลกระทบ กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด พบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 70% ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณี และหัตกรรม ส่วนภาคบริการได้รับผลกระทบในระดับมากถึงมากที่สุด 71.1% ขณะเดียวกัน พบว่า เอสเอ็มอี 86.5% ยังไม่มีการเลิกจ้างงาน แต่ 13.5% บอกว่า มีการปลดคนงาน และเลิกจ้าง และโดยเฉลี่ยระบุว่า ในช่วงต่อไป หากยังไม่มีรายได้เข้ามา หรือเข้ามาน้อย จะสามารถประคองกิจการไปได้อีกเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 9 เดือนสภาพปัญหาเอสเอ็มอี-ทรุดต่อเนื่องแบบโงหัวไม่ขึ่น

ผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่สำรวจความเห็นเอสเอ็มอี 2,666 ราย ใน 21 สาขาธุรกิจ ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ในหัวข้อ “ธุรกิจเอสเอ็มอี กับการเข้าถึงสินเชื่อภาครัฐ” ช่วงเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ 69.5% ไม่สามารถเข้าถึง และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อ ที่ได้รับความช่วยเหลือมีเพียง 30.5%

ระดมสมองเสนอแนวทางแก้ไข

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ นำเสนอว่า ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ จะเป็นช่วงรอยต่อธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะมาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลง โดยคาดว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่แน่นอน ทำให้ทางการไทยอาจต่ออายุโครงการ หรือออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม 

มาตรการในต่างประเทศที่น่าสนใจ จะเป็นโครงการที่เน้นการรักษาตำแหน่งงาน (Job Retention Scheme) โดยตรง ซึ่งจะมีเงื่อนไขสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือการอุดหนุนสินเชื่อให้เปล่าให้กับผู้ประกอบการ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ้างงานได้ตามที่กำหนด ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีข้อดีตรงที่ช่วยให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพและช่วยยับยั้งการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ ลดปัญหาเชิงสังคมจากการถูกเลิกจ้าง แต่ก็มีข้อสังเกตสำคัญ คือ การออกแบบมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม รวมถึงกลไกการตรวจสอบที่รัดกุม

นอกจากนี้ ก็ยังมีแนวทางการโอนขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเคยนำมาใช้ในไทยหลังช่วงปี 2540 อันจะช่วยลดภาระต่อเงินกองทุนของสถาบันการเงิน เพียงแต่จะบรรเทาลงไปได้เพียงใดนั้น ขึ้นกับราคาขายและเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายหนี้เช่นกัน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ เห็นชอบให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทย ในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ,ผู้ถือบัตรสมาชิก ไทยแลนด์ อีลิท การ์ด และต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะไปคุยรายละเอียดกับคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าหมายว่า จะผลักดันการท่องเที่ยวแบบจับคู่ประเทศเดินทาง หรือ ทราเวล บับเบิล อย่างช้าภายในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งการเดินทางเข้ามาในไทยจะเปิดเพียงช่องทางเดียวคือ ต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ลักษณะเช่าเหมาลำก่อน

สำหรับการเดินทางในกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น กำหนดไว้ 8 แพ็กเกจ 8 จุดหมายปลายทาง นำร่องใน จังหวัดเชียงใหม่ 7 วัน 6 คืน ,จังหวัดภูเก็ต 6 วัน 5 คืน ,จังหวัดภูเก็ต 8 วัน 7 คืน ,ล่องเรือยอร์ช จังหวัดกระบี่ 5 วัน 4 คืน ,เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 วัน 6 คืน ,เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5 วัน 4 คืน ,พัทยา จังหวัดชลบุรี 6 วัน 5 คืน และพัทยา จังหวัดชลบุรี 11 วัน 10 คืน

ส่วนผู้ถือบัตรสมาชิก ไทยแลนด์ อีลิท การ์ด นำร่อง 200 ราย ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของรัฐบาล และศูนย์ศบค. อย่างเคร่งครัด  การเปิดให้ต่างชาติมาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยนั้น กำหนดให้ต้องมีใบรับรองแพทย์และเอกสารตามที่ ศบค. กำหนด เมื่อเดินทางถึงไทยต้องเข้ากักกัน 14 วัน และตรวจหาเชื้อตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ คอยติดตาม โดยทีมงานทุกคนต้องมีประกันคุ้มครองค่ารักษาโรคโควิด ต้องแจ้งพื้นที่ถ่ายทำ ให้ทราบล่วงหน้า 

แม้ขณะนี้กระทรวงท่องเที่ยวฯ จะพยายามสนับสนุนให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในไทย แต่ผู้ประกอบการก็ยังอยู่รอดยาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 3 ล้านล้านของไทยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2 ล้านล้าน และมีรายได้จากภายในประเทศเพียง 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ล่าสุดสภาหอการค้าไทยเผย วันที่ 19 ส.ค.2563 หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลและภาคเอกชน จะประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือ SME ธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

การเข้าไม่ถึงมาตรการรัฐ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลและคณะศคบ.เศรศฐกิจที่เพิ่มได้รับการแต่งตั้งสดๆร้อนๆ จะต้องแสดงฝีมือให้ทันต่อสถานการณ์ร้อนนี้  ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด ให้ทันเวลาก่อนธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังย่ำแย่จะหมดลมหายใจไปเสียก่อน!!