ผ่าแผนฟื้นฟูการบินไทย!?! เจ้าหนี้รายใหญ่หนุน-รายย่อยค้าน?!? คาดเจรจาได้ มั่นใจแจงศาล 17 ส.ค.นี้ฉลุย

1975

แม้เจ้าหนี้รายย่อยยื่นคัดค้านฟื้นฟูการบินไทย “ชาญศิลป์” แจงสามารถเจรจาได้ ชี้ไม่มีผลต่อกระบวนการฟื้นฟู  เผยเจรจาเจ้าหนี้รายใหญ่ราบรื่น เตรียมยื่นรายชื่อผู้ทำแผน และมั่นใจเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง 17 ส.ค.นี้ผ่านแน่นอน 

ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นัดแรกในวันที่ 17 ส.ค.2563 ซึ่งการพิจารณาของศาลจะทำให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจการบินไทยมากขึ้น ศาลฯกำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านคำขอฟื้นฟูกิจการได้ภายในวันที่ 14 ส.ค. 2563 ซึ่งการบินไทยได้รับแจ้งจากศาลล้มละลายกลางว่ามีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน 15 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้รายย่อยและรวมหนี้แล้วไม่ถึง 2 ใน 3 ของมูลหนี้ทั้งหมด จึงทำให้เจ้าหนี้ที่ยื่นไม่สามารถคัดค้านการฟื้นฟูกิจการได้ ทั้งนี้ ทำให้ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการเดินหน้าต่อและรอการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางในวันที่ 17 ส.ค.นี้ 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย เปิดเผยว่า การบินไทยเตรียมข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลางเต็มที่โดยศาลจะพิจารณาคำสั่ง 2 ประเด็น คือ 1.การบินไทยควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ 2.ควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอหรือไม่

วันที่ 17 ส.ค.นี้ ศาลยังไม่พิจารณาเจ้าหนี้แต่ละรายว่าจะได้รับชำระหนี้เท่าไรและเมื่อไหร่ เพราะขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นหลังศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยหากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเร็วเท่าไหร่จะทำให้เจ้าหนี้ทุกรายได้รับเงื่อนไขการรับชำระหนี้จากแผนฟื้นฟูกิจการ

“ผมมั่นใจว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยจะผ่านการอนุมัติจากเจ้าหนี้ และผมมั่นใจว่าคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอชื่อเป็นคณะผู้ทำแผนที่มีความรู้ความสามารถ จะทำงานอย่างหนักเพื่อศึกษาแนวทางในการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างธุรกิจ รวมทั้งพนักงานและผู้บริหารพร้อมใจกันให้การฟื้นฟูสำเร็จ”

การบินไทยเสนอชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ คือ บริษัทอีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมกับกรรมการการบินไทย 6 คน คือ 1.พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 5.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ6.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นกับการสนับสนุนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งจากเจ้าหนี้ คู่ค้า ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ จึงต้องการให้ทุกคนไม่คัดค้านในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เพื่อให้กระบวนการในชั้นแรกดำเนินการไปโดยเร็วที่สุด ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับเจ้าหนี้และการบินไทย

ขณะนี้มีโมเดลที่เชื่อว่าจะพาการบินไทยฟื้นได้ โดยขั้นตอนภายหลังวันที่ 17 ส.ค.นี้ หากศาลอนุมัติแผนและผู้จัดทำแผนใช้เวลา 1–2 สัปดาห์ทราบผล หลังจากนั้นเจ้าหนี้จะมาแจ้งมูลหนี้ และภายใน 3 เดือน การบินไทยจะยื่นแผนทั้งหมดและเริ่มปรับปรุงธุรกิจได้ โดยคาดใช้เวลา 3–5 ปี จะกลับมาฟื้นธุรกิจ

แผนการตัดรายจ่าย-สร้างรายได้

ที่ผ่านมาในช่วงที่การบินไทยฯ หยุดทำการบินชั่วคราว บริษัทฯ ได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายผ่านการลดเงินเดือนผู้บริหารและบุคลากร  รวมถึงปรับกระบวนการทำงานต่างๆ แล้ว  บริษัทฯ ยังคงให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าสินค้า รวมถึงช่วยสนับสนุนการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กรกฎคม 2563 โดยขนส่งสินค้าจำนวน 18,165 ต้น ใน 903 เที่ยวบิน และจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยที่ตกคงและอยากกลับบ้าน จำนวน 5,488 คน จำนวน 46 เที่ยวบิน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอริก ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ สหรัฐ อาหรับเอมิเรต อินโดนีเซีย ลาว เกาหลี ฮ่องกง และญี่ปุ่น 

โดยมีรายได้จากการขนส่งสินค้าและจัดเที่ยวบินพิเศษ ระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎคม 2563 ประมาณ 1,826 ล้านบาท และบริษัทฯ ยังมีรายได้จากฝ่ายครัวการบิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนาย 2563 ประมาณ 500 ล้านบาท จากการผลิตอาหารขึ้นเครื่องบินให้แก่สายการบิน ลูกค้า และของบริษัทฯ ประมาณ 1.1 ล้านชุด และผลิตขนมและเบเกอรี่ของร้าน Puff & Pie กว่า 5.5 ล้านชิ้น

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานประจำปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาทหรือลดลง 7.7% โดยมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลงรวม 15,767 ล้านบาทหรือ 8.6% สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาทหรือประมาณ 5.89% สาเหตุหลักเกิดจากค่าน้ำมันที่ลดลง 421 ล้านบาท (9.0%) เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง 8.2% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน 6,580 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงาน จำนวน 12,424 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาทหรือประมาณ 37.2%

นายชาญศิลป์ ย้ำว่าการบินไทยยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินกิจการทั่วไปอย่างการจ่ายเงินเดือนบุคลากร การเปิดบินเที่ยวบินพิเศษ รวมถึงกิจการที่จำเป็นต่างๆ พร้อมอธิบายว่าการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการของสายการบินนกแอร์ไม่มีผลต่อการดำเนินงานของการบินไทยด้วยคิดเป็นมูลค่าไม่กี่ร้อยล้านบาท และย้ำอีกว่าการฟื้นฟูกิจการอย่างไรก็ดีกว่าการล้มละลาย เพราะการบินไทยยังมีโอกาสที่จะหมุนเวียนกระแสเงินได้ รักษาการจ้างงาน ทำกำไร และสามารถฟื้นฟูกิจการได้