ทรัมป์เสียงอ่อย?!? ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ไบเดนแต่ปากแข็งจะฟ้องศาลต่อ ขณะไบเดนเปิดตัวครม.ใหม่

1772

หลังผลนับคะแนนใหม่ในสวิงเสตทหลายแห่ง ไบเดนยังนำ ถึงจะทำเสียงแข็งมานานหลายสัปดาห์ ในที่สุดปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯก็ได้ยอมอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เดินหน้ากระบวนการถ่ายโอนอำนาจสู่ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดนแล้ว เปิดทางให้ทีมของไบเดน-เดโมแครตรับฟังรายงานสรุปต่างๆ และเข้าถึงเงินทุน แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังประกาศไม่ละความพยายามคัดค้านผลเลือกตั้ง เดินหน้าฟ้องศาลต่อ ส่วนไบเดนเดินหน้าเปิดตัวทีมว่าที่ครม.ใหม่แล้ว

ทรัมป์ แห่งรีพับลิกัน กล่าวอ้างโดยไม่ได้มอบหลักฐานใดๆ ว่า มีการโกงอย่างกว้างขวางในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน และแม้ยังไม่ยอมรับชัยชนะของไบเดน แต่ได้แสดงท่าทีว่าเขากำลังยอมรับความปราชัยในที่สุด

สำนักบริหารงานบริการทั่วไปของสหรัฐฯ (General Services Administration – GSA) หน่วยงานรัฐบาลกลางที่รับผิดชอบการถ่ายโอนอำนาจ ได้แจ้งกับไบเดนในวันจันทร์ (23 พ.ย.) ว่าเขาสามารถเริ่มต้นกระบวนการรับมอบอำนาจอย่างเป็นทางการ โดย เอมิลี เมอร์ฟีย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานบริการทั่วไปของสหรัฐฯ ระบุในหนังสือว่าเวลานี้ ไบเดน สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ เขาถูกปฏิเสธ เนื่องจากมีการยื่นคัดค้านทางกฎหมายหาทางล้มผลเลือกตั้ง

ถ้อยแถลงนี้มีขึ้นไม่นาน หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐมิชิแกน รับรองอย่างเป็นทางการให้ ไบเดน เป็นผู้ได้รับชัยชนะในรัฐ ส่งผลให้ความพยายามทางกฎหมายของทรัมป์ ในการเปลี่ยนผลเลือกตั้ง ยิ่งมีความเป็นไปได้ลดน้อยถอยลงไปอีก

ทรัมป์และคณะที่ปรึกษาบอกว่าเขาจะยังคงเดินหน้าเสาะหาลู่ทางทางกฎหมายต่อไป แต่ข้อความในทวิตเตอร์ล่าสดของเขา เป็นสัญญาณบ่งบอกได้อย่างดีว่า แม้แต่ทำเนียบขาวเองก็ตระหนักดีกว่าพวกเขาใกล้ถึงเวลาที่ต้องก้าวไปข้างหน้าแล้ว

“คดีอันหนักแน่นของเราะเดินหน้าต่อไป เราจะเดินหน้าสู้ต่อ และผมเชื่อว่าเราจะเป็นฝ่ายชนะ! อย่างไรก็ตาม เพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศชาติ ผมแนะนำให้ เอมิลีและคณะทำงานของเธอทำในสิ่งที่ต้องทำ ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบพิธีการต่างๆ ในเบื้องต้น และบอกกับคณะทำงานของผม ให้ทำแบบเดียวกัน” ทรัมป์เขียนบนทวิตเตอร์

ที่ปรึกษารายหนึ่งของทรัมป์ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็คล้ายกับเมื่อครั้งที่ทั้งสองผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับฟังการบรรยายสรุประหว่างหาเสียง และยืนยันว่า ข้อความบนทวิตเตอร์ของประธานาธิบดี ไม่ใช่การยอมรับความพ่ายแพ้

ด้านทีมเปลี่ยนถ่ายอำนาจของไบเดน เปิดเผยในถ้อยแถลงว่าจะมีการเริ่มประชุมกับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง เกี่ยวกับแนวทางตอบสนองต่อโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่นเดียวกับหารือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ความเคลื่อนไหวของ GSA นั่นหมายความว่าเวลานี้คณะทำงานของไบเดน จะเข้าถึงเงินทุนของรัฐบาลกลาง และมีสำนักงานอย่างเป็นทางการสำหรับดำเนินการถ่ายโอนอำนาจ จนกว่าจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม นอกจากนี้แล้วมันยังเปิดทางให้ ไบเดน และว่าที่รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส รับฟังบรรยายสรุปด้านความมั่นคงแห่งชาติ เช่นเดียวกับทรัมป์

ร่างทรงของรัฐบาลชุดโอบามา

ในวันจันทร์ (23 พ.ย.) ไบเดน เปิดเผยรายชื่อสมาชิกระดับสูงในคณะทำงานด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งคับคั่งไปด้วยบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา ยุติยุคแห่งความวุ่นวายภายใต้การบริหารของทรัมป์ และหวนคืนสู่การทูตแบบดั้งเดิมของสหรัฐฯ

ไบเดน ไว้วางใจให้ แอนโทนีย์ บลินเคน ผู้ช่วยคนสนิทเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ จอห์น เคอร์รี อดีตวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี 2004 เป็นทูตพิเศษด้านโลกร้อน นอกจากนี้แล้ว ไบเดน ยังเสนอชื่อสตรีคนแรกในฐานะหัวหน้าข่าวกรอง คนเชื้อสายละตินรายแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และผู้หญิงคนแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รายชื่อที่เปิดเผยโดยคณะทำงานของไบเดน แสดงให้เห็นถึงความพยายามนำพาสหรัฐฯ หวนคืนสู่บทบาทแกนนำของพันธมิตรพหุภาคี สวนทางกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์

เมื่อวันพฤหัสบดี(19 พ.ย.2563) ที่ผ่านมา นายไบเดน เปิดเผยว่า ได้เลือกรัฐมนตรีคลังไว้แล้ว โดยสื่อระบุว่า ผู้ที่อยู่ในโผรัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐ มีนางเจเนท เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐรวมอยู่ด้วย ขณะที่บรรดาพันธมิตรของนายไบเดนเปิดเผยว่า นายไบเดนน่าจะเปิดเผยชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ในวันนี้(24 พ.ย.2563)โดยวางตัวนายแอนโทนี บลิงเคน อดีตนักการทูตให้มารับตำแหน่งนี้ สำหรับนายบลิงเคน วัย 58 ปี ซึ่งเป็นคนสนิทของนายไบเดนมานาน เคยดำรงตำแหน่งหมายเลข 2 ในกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ในรัฐบาลของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งมีนายไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี โดยที่ผ่านมานายบลิงเคนได้โน้มน้าวว่าสหรัฐจำเป็นต้องเป็นผู้นำที่แข็งขันของโลก มีส่วนร่วมกับพันธมิตร และต้องมองว่าประเทศที่พยายามขึ้นมามีบทบาททัดเทียม เช่นจีน คือผู้ขัดผลประโยชน์

ลินดา โธมัส – กรีนฟิลด์ ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวดำ และเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ จะไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ , ขณะเอฟริล ไฮเนส อดีตรองผู้อำนวยการ CIA ไปเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

เจค ซัลลิแวน จะมาเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ