วิเคราะห์แนวคิด “สหรัฐที่ดีกว่า”ของโจ ไบเดน? ต่างจากทรัมป์ตรงไหน

1927

นโยบายโจ ไบเดนภาพรวมไม่ต่างจากทรัมป์มากนัก? 1 ยุทธศาสตร์ 3 กลยุทธ์: เพื่อสหรัฐที่ดีกว่า-ซื้อของอเมริก้น-ทำในอเมริกา-เพื่อบริโภคในอเมริกา (อเมริกาทำ-อเมริกันใช้-อเมริกาเจริญ?) กระทบคู่ค้าอย่างไทยแน่นอน เพราะเป็นแนวคิดที่เน้นฟื้นกำลังการผลิต และพึ่งตนเองภายในประเทศเป็นสำคัญ มีแนวโน้มกีดกันการค้าหนักขึ้น และการเตะตัดขาจีนจะไม่เปลี่ยนแปลง โลกเปลี่ยนไปแล้วเพราะโควิด-19 การรวมกลุ่มเขตการค้าซีกโลกตะวันออก การดิสรับชั่นเศรษฐกิจดิจิทัล ท้าทายบทบาทของมหาอำนาจเก่าที่ยังหลงตนเองว่าจะกลับมายิ่งใหญ่ คุมกฎทุกอย่างไว้ในกำมือได้เหมือนในอดีต จับตาผลกระทบไทย”ส่งออก,ลงทุน การเมือง”

นโยบาย Build Back Better หรือสหรัฐที่ดีกว่า พร้อมกับ 3 ยุทธศาสตร์ “Buy American, MAKE IT IN AMERICA และ SUPPLY AMERICA”

ยุทธศาสตร์ที่ 1

1.การเพิ่มกฎว่าด้วยการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น สำหรับสินค้าสำคัญๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศต่างๆ

2.ทำการปิดช่องโหว่ต่างๆ ที่ต่างชาติจะใช้ในการเลี่ยงทำตามนโยบาย Buy American และในการโฆษณาหลอกว่าเป็น Buy American แม้ที่แท้จะผลิตในจีน

3.เพิ่มนโยบาย Buy American ให้รวมถึงด้านวิจัยด้วย ทั้งในอุตสาหกรรมเหล็กและโครงการด้านขนส่งและแร่ธาตุ

4.ทำการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการค้าสำหรับ Buy American อันประกอบด้วย Ship American หรือร่างกฎหมายเพื่อช่วยด้านการขนส่งทางเรือให้กับบริษัทในสหรัฐ เพื่อความมั่นคงของประเทศด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือนโยบาย MAKE IT IN AMERICA ด้วยการทวงคืนความยิ่งใหญ่ของสหรัฐในภาคอุตสาหกรรม อันประกอบด้วยแผนของไบเดนที่จะสร้างงาน 2 ล้านตำแหน่ง และทำให้จีดีพีเพิ่ม 5 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 โดยไบเดนจะมีนโยบายในส่วนนี้คือ INNOVATE IN AMERICA ที่จะสร้างงานในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้สหรัฐเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นด้าน advanced materials ด้านสุขภาพและยารักษาโรค ไบโอเทค พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า AI และโทรคมนาคม ดังนี้

1.เพิ่มงบด้านวิจัยให้กับหน่วยงานใหม่ๆ อย่าง National Institutes of Health, National Science Foundation และ Department of Energy นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานใหม่ที่แกะกล่องของไบเดน ที่รวมถึง Advanced Research Projects Agency for Health (ARPA-H) และ Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่กล่าวข้างต้น

2.ลงทุนด้านงานวิจัยให้กับบริษัทขนาดเล็ก ผ่านการขยายผลของโครงการ Small Business Innovation Research (SBIR) ซึ่งถือได้ว่าเป็น Seed Fund ใหม่ของสหรัฐเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ INNOVATE IN AMERICA ยังได้เสริมสร้างนวัตกรรมในยุคของไบเดน ด้วยการเสนอแผนการลงทุนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 4 ปี เพื่อที่จะสร้างงานใหม่เพิ่มกว่า 3 ล้านตำแหน่งดังที่กล่าวไว้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้กับสหรัฐ

ท้ายสุด แผนสร้างนวัตกรรมให้สหรัฐของไบเดน ยังรวมถึงการลงทุนด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ให้กับเด็กมัธยม และให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.25 แสนดอลลาร์สามารถได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีฟรี เพื่อเป็นการสร้างงานให้กับภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ รวมถึงการใช้งบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการฝึกอบรมให้แรงงานสามารถมีทักษะใหม่ๆ ในการเข้าตลาดแรงงานอีกครั้ง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ได้แก่ นโยบาย SUPPLY AMERICA ด้วยการดึงห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ในระดับยุทธศาสตร์กลับมาสู่ดินแดนสหรัฐอีกครั้ง โดยที่ไบเดนจะทำให้ Supply Chain ของสหรัฐกลับมาแข็งแกร่งเหมือนเดิม ด้วยนโยบายที่ปิดช่องว่างในเซกเตอร์หลักๆ ดังนี้ 

1.ทำการมอบหมายให้หน่วยงานหลักๆ ของรัฐบาลอเมริกันมีส่วนเป็นผู้ผลิตสินค้าที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ

2.เปลี่ยนระบบภาษีที่สนับสนุนให้บริษัทยาย้ายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ

3.สร้างสินค้าคงคลังเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีสินค้าไว้ใช้อย่างเพียงพอในช่วงวิกฤติ

4.ร่วมมือกับพันธมิตรในการลดการพึ่งพาต่อคู่แข่งอย่างจีน ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการค้าโลกให้ตนเองมีระบบ Supply Chain ที่ดีขึ้น

5.เน้นนโยบาย Buy American ให้การผลิตกลับมาสู่ในประเทศในทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนด้านการจัดหาวัสดุและสินค้าต่างๆ (Procurement Investment) ซึ่งประกอบด้วย

1.การซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามูลค่าหลักหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้สหรัฐเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด

2.การซื้อเหล็ก ปูน วัสดุการก่อสร้าง และคอนกรีตเพื่อช่วยบริษัทในสหรัฐ

3.การซื้ออุปกรณ์การแพทย์และยารักษาโรคในสหรัฐเพื่อให้มั่นใจว่าจะยังมีไว้ใช้ในช่วงวิกฤติ

4.การซื้อปัจจัยที่ใช้ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างโทรคมนาคมและเอไอเพื่อสร้างงานและรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและความมั่นคง