ต้องสู้จึงมีที่ยืน ?!!? โชห่วยจับมือ SMEs ยื่นหนังสือรัฐบาล แก้กติกาคุมค้าปลีกรายใหญ่ หวั่นทั่วปท.เหลือแค่ 4 ตระกูลผูกขาด!

1646

การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ทำให้อาณาจักรค้าปลีกของซีพี มีทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท และเทสโก้ โลตัส ผนวกธุรกิจเกษตร เกษตรแปรรูป ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจตลอดสาย สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะโชห่วยและเอสเอ็มอี ซึ่งมีอยู่นับล้านรายในเมืองไทย ทำให้กลุ่มโชห่วยและเอสเอ็มอีต้องผนึกกำลัง เร่งให้ภาครัฐแก้กฎกติกา ด้านโครงสร้างต้นทุน ภาษี แพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้จริง

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย และรองประธานสมาพันธ์ เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย ว่า สมาคมในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง หรือโชห่วย ร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จะร่วมกับสมาพันธ์ เอสเอ็มอีไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็ก ทำหนังสือนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฏร ซึ่งมีนายอันวาร์ สาและเป็นประธาน เพื่อพิจารณาปรับแก้กฎกติกา ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีก ค้าส่ง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ลดเหลื่อมล้ำ และสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ

ที่ผ่านมาภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมนักธุรกิจจากต่างประเทศ ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆมากมาย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการไทย สร้างความได้เปรียบทำให้มีอำนาจต่อรองมากกว่า สร้างความเสียหายผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อย ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้

“การเปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ โดยไม่มีกฎกติกา ย่อมสร้างความเสียเปรียบให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อย โดยอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน กับการที่ภาครัฐปล่อยให้เข้ามาลงทุนและขยายสาขา ส่งผลทำให้ร้านค้าชุมชน โชห่วย ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม”

โมเดิร์นเทรดทำลายค้าปลีกไทยสูญพันธ์

กฎระเบียบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแพลตฟอร์มในการเข้ามาลงทุน ขนาดใหญ่กับขนาดเล็ก ข้อจำกัดก็แตกต่างกัน จะใช้แพทเทิร์นเดียวกันในทุกๆ ประเภทค้าปลีกไม่ได้ การส่งเสริมก็เช่นกัน จะให้สิทธิทางภาษี หรือใช้เงื่อนไข ข้อปฏิบัติเดียวกันระหว่างรายใหญ่ กับรายย่อยไม่ได้ ทุกวันนี้หลายๆ ข้อสร้างความได้เปรียบ เอื้อให้กับรายใหญ่ รวมถึงโครงสร้างราคาของสินค้า ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิต การขนส่ง การวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น จากเดิมที่ราคาผลิตภัณฑ์น่าจะอยู่ที่ 10 บาท ทำให้ต้องวางขาย 20 บาท ส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศต้องจ่ายแพงขึ้น ขณะที่ร้านโชห่วยต้องขายในราคา 20 บาท แต่เมื่อโมเดิร์เทรด ซึ่งขาย 20 บาทจัดโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 ย่อมส่งผลกระทบต่อโชห่วยทำให้ขายไม่ได้

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีร้านโชห่วยต้องปิดกิจการไปจำนวนมาก โดยมีสาเหตุมาจากการเข้ามาของร้านสะดวกซื้อ หรือโมเดิร์นเทรดในพื้นที่ใกล้เคียง และการที่ลูกหลานมองว่าสู้ไม่ได้ ทำไปก็เหนื่อย ไปทำงานบริษัทดีกว่า จึงไม่อยากสานต่อกิจการของครอบครัว และต้องปิดกิจการไปก็มี

ข้อเรียกร้องจากโชห่วยและSMEs

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขอให้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร รับเป็นเจ้ภาพ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมการค้าภายใน (คน.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ ในการผลักดันกฎ ระเบียบ กติกาให้เป็นธรรมเพื่อช่วยเหลือโชห่วยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีแต้มต่อ และดำเนินธุรกิจได้ต่อไป เพราะเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ จะค่อยๆสูญหายไป จนถึงฐานราก

ขอให้ปลดล็อก กฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมเอื้อรายใหญ่ที่แข็งแรงกว่า ได้เปรียบทั้งกำลังทุนและกำลังคน และสร้าง New Normal ให้กับผู้ประกอบการโชห่วยและเอสเอ็มอี เพราะหากไม่ดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตก็จะเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมแค่ 4 ตระกูลเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ต้องทนลำบากต่อไป หากไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการไปเอง

สานต่อโครงการดีๆ โครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว เพื่อยกระดับการทำธุรกิจที่มีมาตรฐานแก่โชว์ห่วยไทย อาทิ สมาร์ทโชห่วย เป็นแนวคิดที่ดี ที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน และส่งเสริมให้มีความแข็งแรง แต่ต้องมีการสานต่อ และส่งเสริมต่อเนื่อง เช่น การบริหารงบฯ-คน-ต้นทุน  การทำบัญชีที่ถูกต้อง การเสียภาษี เป็นต้น

-การให้เงินกู้ซอฟท์โลกเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องดูแลกฎเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เป็นจริงด้วย ทุกวันนี้เงินท่วมธนาคาร แต่ถึงมือเอสเอ็มอีแค่ 1 ใน 5 ของงบประมาณที่รัฐบาลเตรียมไว้ช่วย

…………………………………………………….