วัฒนาอบรมม็อบเคารพสิทธิเสรีภาพคนอื่นบ้าง ซัดมีคนปั่นหลอกต้ม

4176

จากที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่างเสร็จลงมติชื่อสมาชิกรัฐสภาเรียงลำดับตามตัวอักษร ก่อนที่สมาชิกแต่ละคนจะขานมติว่า รับ-ไม่รับ-งดออกเสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละร่าง โดยสมาชิกรัฐสภา ซีกรัฐบาล และส.ว. ส่วนใหญ่ ลงมติรับหลักการ ร่างที่ 1 – 2 ตามที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ

ทั้งนี้ได้ลงมติงดออกเสียงในร่างที่เหลือ ขณะที่ ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน ลงมติรับหลักการทั้ง 7 ร่าง แต่ทั้ง 5ร่างดังกล่าวมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ถือว่า ไม่ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ

ล่าสุดวันนี้(19พ.ย.63ป นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าว ทั้งยังได้พูดถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมรับมติของรัฐสภาด้วยว่า

การที่รัฐสภาลงมติรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 2 ฉบับ เพื่อตั้ง สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจ เพราะผมยืนยันมาตลอดว่าร่างของเราที่ขอตั้ง สสร. มีความสมบูรณ์และจะผ่าน ส่วนร่างอื่นๆ จะไม่ผ่านจนผมต้องทะเลาะกับคนในพรรคและเพื่อนต่างพรรคที่กดดันให้พวกผมเสนอแก้ไขมาตราอื่นเพื่อปิดโน่นปิดนี่ด้วย เพราะผมเห็นแต่แรกว่าเปลืองแรงและเสียเวลาเปล่า

สิ่งที่น่ายินดีคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นตามครรลองซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ส่วนร่างขอแก้ไขอีก 5 ฉบับไม่ผ่านการพิจารณาโดย ส.ส. ส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ลงมติให้นั้น สำหรับผมยอมรับได้ ส่วนที่ยังมีผู้ชุมนุมและไม่พอใจการลงมติ ผมเห็นว่าผู้ชุมนุมควรต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน เพราะหาก ส.ส. เหล่านั้นลงมติโดยฝืนความรู้สึกของประชาชน ทั้ง ส.ส. และพรรคการเมืองนั้นจะถูกลงโทษโดยประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเอง

สิ่งที่ผมจะเรียกร้องคือ ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสันติ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้จบแล้ว ส่วนที่ยังมีคนพยายามปั่นกระแสหลอกต้มชาวบ้านว่าร่างทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขได้ครบทุกเรื่องก็บิดเบือน เพราะการยกเว้นไม่แก้หมวด 1 และ 2 นั้นไม่ใช่หลักการ จึงสามารถแปรญัตติเพื่อให้ สสร. แก้ไขได้ทุกหมวดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่หากเห็นด้วยก็แก้ไขได้ทุกเรื่อง

แต่หากยังมีการชุมนุม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแล และรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน เพราะหากการชุมนุมขาดความชอบธรรม หรือทำความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ ผู้ร่วมชุมนุมก็จะลดลงและจะไม่ได้รับการสนับสนุน แต่รัฐบาลต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งหรือมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้ ก็ขนาดผมที่ไม่เคยออกไปชุมนุมแต่ลูกผมกลับไปชุมนุมแทบทุกนัด

ที่มา : เฟซบุ๊ก Watana Muangsook