ครม.ร้อนฉ่า?!? สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวชะงัก คมนาคมขวางต่อสัญญาให้ทบทวน 4 ข้อ ชี้อาจมีปัญหากม.

1981

ปิดดีลไม่ลงยืดเยื้อมาเป็นปี กรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสะดุด คมนาคมขวางมหาดไทย ไม่เห็นด้วยต่อสัญญา 30 ปีชี้เหตุผล 4 ข้อ ส่อยืดเยื้อ ล่าสุดมหาดไทยยืนยันตอบได้เคลียร์ ให้เอกชนแบกหนี้แสนล้าน กับค่าตั๋วสูงสุดตลอดสาย 65 บาทเหมาะสม จับตาว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร

สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีกลับหลายรอบ  แม้ผลการเจรจาระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะได้ข้อสรุปทั้งเงื่อนไขสัญญาโครงการบีทีเอสเดิมและการต่อสัญญาที่ผนวกรวมกับสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีก 30 ปี (2572-2602) หลังมีคำสั่ง คสช.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 เร่งรัดการดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น ซึ่ง ครม.ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 กระทรวงคมนาคมทักท้วงและเสนอความเห็นเพิ่มเติม 4 ประเด็น ให้กระทรวงมหาดไทยต้องนำเรื่องกลับไปทบทวนมาชี้แจงอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 กระทรวงมหาดไทยได้เสนอ ครม.พิจารณาผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้วครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง เพิ่งเข้ารับตำแหน่งและมี รมต.ใหม่ใน ครม.หลายคน จึงขอนำรายละเอียดข้อตกลงในร่างสัญญาใหม่ไปศึกษาก่อน  การเจรจาสรุปไปแล้ว… เป็นเรื่องของขั้นตอนในการนำเสนอ ครม.เพื่อรับทราบเท่านั้น แต่เหมือนกลับมานับหนึ่งใหม่ จะต้องให้ปปช.ตรวจก่อนอีก

มหาดไทยพร้อมชี้แจงข้อสงสัยคมนาคม

นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติรับทราบและให้รวบรวมความเห็นของหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับร่างสัญญาที่เสนอใน ครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยความเห็นจะถูกส่งไปที่กระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร เพื่อตอบความเห็นกระทรวงคมนาคมที่สอบถามเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สลค.นำวาระเข้าตามที่กระทรวงมหาดไทยส่งหนังสือความเห็นมานานแล้ว แต่ที่รอเนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีขั้นตอนกลับไปดูทั้งหมด รวมทั้งนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรกลับไปพิจารณาด้วยตามมติ ครม. โดยเมื่อมีความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่เป็นเรื่องใหม่ และยังไม่เคยหารือใน ครม.จึงนำเข้ามาสอบถามความเห็นเพราะเรื่องใหญ่พอสมควร

“เรื่องนี้ไม่มีธงอะไรและ ครม.ไม่ได้ขัดแย้งอะไร และไม่ใช่การเอาสัญญาเข้ามาบังคับให้ ครม.ตัดสินใจแล้วถูกตีกลับ แต่เป็นการเอามาเพื่อรอฟังความเห็นและเป็นเรื่องที่ ครม.แค่รับทราบเมื่อรับทราบแล้วก็ส่งให้หน่วยงานที่ต้องตอบคำถาม คือ กระทรวงมหาดไทย และเมื่อตอบมาจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูคำตอบและเหตุผลจากนั้นจึงตัดสินใจร่วมกันว่าเรื่องนี้จะเดินหน้าอย่างไร”

คมนาคมอ้างหวั่นทำไม่ถูกกฎหมาย

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ทำความเห็นประกอบการเสนอครม. 4 ประเด็น จากการศึกษาข้อมูลมาแล้ว

  1. ความครบถ้วนตามหลักการพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) การดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ที่ให้ถือว่าการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าว เป็นการทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุนนั้น พบว่า การดำเนินการตามคำสั่งฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากมีการเจรจา

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมเห็นว่า สมควรให้เจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและความรอบคอบในการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) และอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) รวมไปถึงแหล่งที่มาของเงินทุน ปริมาณผู้โดยสารและค่าโดยสารที่เป็นธรรมก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

2.ค่าโดยสารที่เหมาะสม กระทรวงคมนาคมเห็นว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท มีราคาสูงกว่าราคาโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงเห็นว่าการพิจารณาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชน สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริงดังนี้

 

ควรคิดค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าถึง 130 บาท/วัน หรือประมาณ 35% ของรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท

ควรวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริงและลดหรืองดค่าแลกเข้าต่างๆ เพื่อให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 65 บาทมีการปรับลดลงมา ซึ่งรถไฟฟ้าเส้นนี้ถือเป็นเส้นทางหลักอยู่แล้วย่อมมีผู้โดยสารใข้บริการมากขึ้นในอนาคต โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว โดยมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละ 800,000-1,000,000 เที่ยวคน/วัน (ตัวเลขก่อนโควิดระบาด) แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดมากถึง 65 บาท เมื่อเทียบกับสายสีน้ำเงินที่มีผู้ใช้บริการประมาณ 300,000 คน/วัน แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาทเท่านั้น จึงเชื่อว่าอัตราค่าโดยสารดังกล่าวสามารถลดราคาลงได้อีก

 

  1. การใช้สินทรัพย์ของรัฐภายหลังรับโอนจากเอกชนเมื่อหมดสัญญาสัมปทานปี 2572 กรณีนี้อาจทำให้สินทรัพย์ที่รัฐควรจะได้รวม 68.25 กม. ประกอบด้วย 1)สินทรัพย์เดิมของรัฐ 23.5 กม. 2) สินทรัพย์ของบจ.กรุงเทพธนาคม 12.75 กม.(ส่วนต่อขยายสายสีลม)และ 3) สินทรัพย์ที่ได้รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 32 กม. (ส่วนต่อขยายเขียวเหนือ-เขียวใต้) อาจจะทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์ได้ จึงควรพิจารณาก่อนว่า รัฐจะได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาดังกล่าวเท่าไหร่ อย่างไร เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐสูญเสียประโยชน์

และ 4.ประเด็นด้านกฎหมาย ควรรอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลกรณี กทม.จ้างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง ( ลาซาล) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงตากสิน – วงเวียนใหญ่ก่อน เพราะหากต่อสัญญาไป อาจจะมีผลกระทบย้อนหลังได้