พลันเมื่อเสียงสรรเสริญทั่วโลกยกย่องชมเชยการสาธารณสุขไทย “อันดับหนึ่งของโลกรับมือโควิด-19 และฟื้นฟูได้เร็วและเป็นอันดับหนึ่งของเอเซียด้านความมั่นคงสาธารณสุข” นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลกต่างยกย่องชื่นชมแบบอย่างของประเทศไทยและประชาชนไทยที่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะการระบาดใหญ่โควิด-19 ด้วยความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งได้ยกตัวอย่างการลงทุนด้านสาธารณสุขไทยที่ดำเนินมาถึง 40 ปีเป็นคำตอบแก่ชาวโลกว่า คุ้มกับการรักษาชีวิตผู้คนไว้มากเพียงไหน คนไทยหลายคนอาจหลงลืมหรือไม่รู้ว่า เบื้องหลังแห่งการสาธารณสุขไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 9 “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”ตลอดรัชกาล
ขอถ่ายทอดบันทึกจากแพทย์นิรนามที่เปิดเผยเบื้องหลังและปฐมบทแห่งการสาธารณสุขไทยที่เราหลายคนอาจไม่รู้ดังต่อไปนี้:
เกร็ดประวัติศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่9 กับ“การแพทย์ไทย”
เรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ตั้งใจจะให้แพทย์รุ่นน้องๆ และประชาชนทั่วไปที่ยังไม่เคยทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน ได้ทราบร่วมกันถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสายพระเนตรที่ยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ก่อนที่จะเลือนหายไปกับกาลเวลา
หลายท่านคงจะยังจำกันได้ถึงวาระการเสด็จพระราชดำเนินเยือนทุ่งมะขามหย่อง ในวันที่ 25 พ.ค.2555 ระหว่างที่พระองค์ประชวรและประทับอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ก่อนหน้านั้นพระองค์ประชวรด้วยเรื่อง พระเพลา(ขา) พระชงฆ์(แข้ง)และพระบาท(เท้า) ไม่มีพระกำลัง ทรงดำเนินได้เพียงระยะสั้นๆในห้องพระบรรทม
เดิมหลายปีก่อนหน้า คณะแพทย์ศิริราช ถวายการวินิจฉัยว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นและมีหินปูนพอกบริเวณกระดูกสันหลัง ได้ถวายการผ่าตัดบริเวณกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และหลายปีต่อมา วินิจฉัยว่าเป็นเพราะความดันของน้ำไขสันหลังในโพรงสมองสูง ทำให้พระชงฆ์และพระบาทอ่อนแรง คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำว่าต้องผ่าตัดเจาะกระโหลกศีรษะ เพื่อวางสายในโพรงสมองช่วยลดความดันในโพรงสมอง ซึ่งเป็นวิธีที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป แต่พระองค์มีพระราชดำริว่า น่าจะมีวิธีผ่าตัดทางเลือกที่หลากหลาย
จึงโปรดให้คณะแพทย์ไปศึกษาการผ่าตัดแก้ไขด้วยวิธีอื่น ในที่สุดคณะแพทย์ได้ไปศึกษาทบทวนวรรณกรรมทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่า มีศาสตราจารย์ทางการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตท่านหนึ่ง ผ่าตัดด้วยการใส่สายเข้าที่ไขสันหลังและต่อสายระบายเข้าช่องท้องเพื่อลดความดันของน้ำไขสันหลัง
จึงได้มาถวายคำแนะนำว่า เนื่องจากวิธีนี้ที่เกียวโตแพทย์ไทยยังไม่เคยทำ จึงเสนอทางเลือก2ทางให้พระองค์ได้พระราชทานพระราชวินิจฉัยว่า
@ทางเลือกที่หนึ่งคือจะทูลเชิญเสด็จไปรับการผ่าตัดที่มหาวิทยาลัยเกียวโต หรือ
@ทางเลือกที่สองคือเชิญศาสตราจารย์ท่านนี้มาผ่าตัดถวายพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ทางใดทางหนึ่ง
พระองค์นิ่งไปสักพักใหญ่และมีพระราชดำรัสตอบว่า ” ฉันเลือกทางเลือกที่สาม คือให้หมอไทยผ่าตัดที่นี่ ฉันจะรอ”เมื่อมีพระราชวินิจฉัยดังกล่าว คณะแพทย์ถึงกับอึ้งไป ในที่สุดคณะแพทย์ศิริราชจึงต้องส่งอาจารย์จากภาควิชาศัลยกรรมประสาท ไปศึกษาวิธีการผ่าตัดนี้ที่มหาวิทยาลัย เกียวโต และกลับมาผ่าตัดถวายพระองค์ ณ ร.พ.ศิริราช ในเวลาต่อมา ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ พระองค์เสด็จพระดำเนินได้ดีขึ้น พระชงฆ์ และพระบาทมีพระกำลังมากขึ้น จนสามารถเสด็จไปเปลี่ยนพระอิริยาบทที่ทุ่งมะขามหย่องตามการถวายคำแนะนำของคณะแพทย์ในปีนั้น (พ.ศ.๒๕๕๕)
“ชาวแพทย์ไทย”คงต้องตระหนักว่า การมีพระราชวินิจฉัยเช่นนั้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้แก่ชาวแพทย์ไทยและปวงชนชาวไทยเป็นยิ่งนัก เพราะหากว่าพระองค์เสด็จไปรักษาพระวรกาย ณ ต่างประเทศ (เหมือนประมุขของประเทศอื่นๆที่มักเสด็จไปรักษาในประเทศตะวันตก หรือประเทศที่มีวิทยาการก้าวหน้า เพื่อความปลอดภัยอย่างที่สุดของพระองค์เอง)
พระองค์ทรงมีรับสั่งว่า ……
“หากพระองค์เดินทางไปรักษายังต่างประเทศ
@ประการแรก เกียรติภูมิของแพทย์ไทยจะอยู่ที่ไหนกัน
@ประการที่สองหากเสด็จไปรักษาในต่างประเทศ พระองค์ก็จะได้รับการผ่าตัดและรักษาเพียงผู้เดียว แต่ถ้าหากเราส่งแพทย์ไทยไปศึกษากลับมาผ่าให้ฉัน อานิสงส์จากการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอีกเป็นจำนวนมาก” ซึ่งในเวลาต่อมา การรักษาโดยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ก็นับเป็นคุณประโยชน์อนันต์ต่อผู้ป่วยปวงชนชาวไทยตราบถปัจจุบันเป็นจำนวนอีกหลายร้อยคน
(bow) เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้อีกเรื่องหนึ่งที่สมควรได้รับการบันทึกไว้
จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยและจะสถิตอยู่ในดวงใจของปวงชนชาวไทยตลอดไปตราบชั่วนิรันดร์
(บันทึกนี้บันทึกโดย เศษเสี้ยว ธุลีแพทย์ไทยที่ได้รับทราบและซาบซึ้ง ถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระวิสัยทัศน์โดยแท้ ข้อความหลายตอนอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักราชาศัพท์ ต้องกราบขอประทานอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)
รัชการที่ 9 ทรงผูกพันกับเรื่องสาธารณสุขมาโดยตลอด ไล่เรียงมาตั้งแต่พระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี ที่ต่างทรงงานทางด้านนี้มาทั้งคู่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย และทรงได้รับการถวายพระสมัญญาเป็น “พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย” ส่วนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เองก็ทรงได้รับการถวายพระสมัญญา “พระราชมารดาแห่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และการสังคมสงเคราะห์” ด้วยทรงทุ่มเทให้กับการแพทย์ชนบทและแพทย์อาสาอย่างจริงจัง