แรงงานกว่า 1.18 ล้านคนที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาฐานว่างงานจากรัฐบาลสหรัฐ ไม่ได้รับเงินสมทบค่าครองชีพ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อสัปดาห์แล้ว เพราะสิ้นสุดระยะเวลาเมื่อ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ต่างกังวลว่านี้คือสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตัวเลขคนตกงานและรับการช่วยเหลือ 30.3 ล้านคน เนื่องจากยังไม่มีรายงานว่าได้งานทำแน่นอน ซึ่งทำให้กำลังซื้อหดตัวอย่างรุนแรง และส่งผลกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐอย่างแน่นอน
ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวราว 4.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าจะหดตัวรุนแรงในไตรมาส 2 ของปี ซึ่งเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจอเมริกันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง ทั้งการปิดเมือง การว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น และอาจจะเป็นการหดตัวรุนแรงกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก โดยเครดิตสวิส ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ของปีนี้อาจหดตัวถึง 33.5% ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่าจะหดตัวราว 34% และอัตราว่างงานในประเทศจะมากถึง 15%
ต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯได้เปิดเผยตัวเลขว่างงานในประเทศเพิ่มขึ้น เป็น 30.3 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยารายสัปดาห์ๆละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นรายจ่าย 15% ของค่าครองชีพในสหรัฐฯ และได้สิ้นสุดโครงการไปเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง
ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.763 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.48 ล้านตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 4.791 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 10.2% โดยต่ำกว่าระดับ 11.1% ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.6%
ข้อมูลข้างต้นถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เพราะส่งผลให้ตลาดหุ้นคึกคัก ดอลลาร์แข็งค่า และทองคำร่วง
แต่ฟังความเห็นของนักวิเคราะห์และเอกชนดูบ้างว่ามองสถานการณ์แรงงานอย่างไร?
ทำเนียบขาวสหรัฐฯเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์(ศุกร์-7 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 1.41 ล้านราย ซึ่งตัวเลขยังมากกว่า 1 ล้านราย ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 20 สะท้อนถึงตลาดแรงงานสหรัฐยังคงอ่อนแอ ทั้งที่สหรัฐมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนพ.ค. นอกจากนี้ ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ วงเงิน 1 ล้านล้าน ดอลลาร์ ซึ่งการเจรจาระหว่างสภาคองเกรสและทำเนียบขาวยังไม่มีข้อสรุป
นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ เปิดตัวเลขผู้ขอรับการเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 ของสหรัฐฯ เท่ากับตัวเลขคนตกงานคือประมาณ 30.3 ล้านคนที่ได้รับเงินเยียวยาสัปดาห์ละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับ 15% ของค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และค่าแรงในสหรัฐฯ แต่ทางการปล่อยให้สิ้นสุดระยะการเยียวยาลงในวันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา
จนบัดนี้ยังไม่สามารถออกมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยังตกลงเรื่องวิธีการบริหารเงินกองนี้ และจำนวนเงินที่่จะเยียวยาประชาชนว่า จะให้ 600 ดอลลาร์-เดโมแครตเสนอ หรือจะให้ 1,200+สัปดาห์ละ 200 ดอลลาร์ ตลอดจนรายละเอียดยิบย่อย ที่คุยกันมา 2 สัปดาห์แล้วยังไม่ได้ข้อสรุป
สถาบันนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ: the Economic Policy Institute (EPI) กล่าวว่าการสิ้นสุดเงิ
เงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน 600 ดอลลาร์สหรัฐ เหมือนสัญญาณเตือนการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้นในทันที เพราะ 5 ล้านงานที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคของสหรัฐย่อมได้รับผลโดยตรง
เฮดิ เชียร์ฮอลซ์ ผู้อำนายการอาวุโส EPI กล่าวว่า “เงิน 600 ดอลลาร์คือค่าใช้จ่ายในชีวิตจริงของคนอเมริกัน ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าดูแลลูก และค่าใช้จ่ายพื้นฐานจำเป็นประจำวัน ถูกตัดเหมือนตัดโอกาสมีชีวิตโดยพื้นฐานไป”
เจพีมอร์แกน (JP Morgan) และ มหาวิทยาลัยชิคาโก ( The University of Chicago) เห็นสอดคล้องกันว่า “ตัด 600 ดอลลาร์ฯเท่ากับส่งสัญญาณตัดกำลังซื้อชัดๆ และแน่นอนจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมหภาค กิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กำลังซื้อจะหดตัวลงถึง 4.2% มากกว่าวิกฤติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเท่ากับ 2.9% เท่านั้น”
ดูตัวเลขรายงานจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หลายฝ่ายอาจดีใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้บริหารบ้านเมืองจึงยังเถียงกันไม่จบเรื่องงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ตลาดหุ้นก็เด้งรับชื่นมื่น แต่ดูสถานการณ์ชีวิตจริงของคนอเมริกันก็ได้ว่า สดใสเหมือนตัวเลขรายงานภาครัฐไหม?
โควิด-19 ระบาดหนักในหลายรัฐ บางรัฐเป็นระบาดรอบสองแล้ว เศรษฐกิจมหภาคของประเทศทั้งตัวเลข GDP, คนว่างงานยังสูง ที่กลับมามีงานก็เป็นงานชั่วคราว บางงานทำช่วงเวลาลดลงรายได้ก็ลดลง บางรายถูกเลิกจ้างได้รับเช็คเงินชดเชย ก็ไม่สามารถเบิกได้มาเป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้การประท้วงยังมีอยู่ทั่วทุกเมืองใหญ่ทางเศรษฐกิจ เปิดกิจการมาก็ยังไม่คึกคัก แล้วจะสรุปว่าทุกอย่างดีขึ้นแล้ว ก็ไม่น่าจะสอดคล้องความจริงเท่าใดนัก