ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 6,000 ล้านบาท สั่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อพี่น้องคนไทย

2023

จากกรณีที่ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19” ดังนี้…วัคซีนโควิด-19 การศึกษาระยะสุดท้ายแบบสมบูรณ์ คงจะมีผลประกาศออกมาในเดือนหน้า เชื่อว่าหลายตำรับของวัคซีน มีประสิทธิภาพสูง

วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคในอุดมคติ จะต้องประกอบไปด้วย
ให้เพียงครั้งเดียวก็ป้องกันโรคได้
อาการข้างเคียงต่ำ
เก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง
เป็นที่ยอมรับของประชาชน
และต้นทุนการผลิตต่ำหรือราคาถูก

วัคซีนโควิด-19 ที่ประกาศผลเบื้องต้นตำรับแรก เป็น mRNA วัคซีนของ บริษัท “ไฟเซอร์ อิงค์” กับ “ไบโอเอ็นเทคฯ” ที่แถลงออกมาถึงประสิทธิภาพสูงในการป้องกัน
วัคซีนที่เป็น RNA จะถูกทำลายได้ง่ายโดยธรรมชาติ การเก็บรักษาจึงต้องใช้อุณหภูมิเย็นจัดถึง -70 องศาเซลเซียส และเมื่อละลายมาที่ 2-8 องศาเซลเซียสแล้วจะต้องรีบใช้ใน 4-7 วัน

เช่นเดียวกันกับวัคซีนที่เป็นไวรัสเชื้อเป็น หรือไวรัสเวกตอร์ ก็จำเป็นที่ต้องเก็บแช่เย็นจัด ยกเว้นสามารถทำเป็นรูปผงแห้ง เช่นวัคซีนหัด ก็จะสามารถเก็บได้ที่ 4 องศาเซลเซียส ได้
แต่ถ้าเป็นวัคซีนโควิด-19 เชื้อตายอย่างที่จีนผลิต ก็จะสามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้

ดังนั้นนอกจากดูประสิทธิภาพของวัคซีนแล้ว ราคาและการเก็บรักษา และการขนส่งเพื่อไปให้กับผู้รับบริการ จะมีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าประสิทธิภาพของวัคซีน
ถ้าวัคซีนต้องเก็บที่ -70 องศาเซลเซียส ความสามารถและการเก็บของประเทศไทย ความเป็นไปได้จะน้อยมาก
เพราะขณะนี้ที่ศูนย์ใช้ตู้เย็น -70 องศาเซลเซียส เก็บตัวอย่างราคาตู้เย็นยังเท่ากับรถยนต์ 1 คันทีเดียว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “หมอยง” เผยข่าวดี การทดลองวัคซีนโควิด ลุ้นเดือนหน้าประกาศผลระยะสุดท้าย ใช้ครั้งเดียวป้องกันได้ ผลข้างเคียงต่ำ

ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด วงเงิน 6,049,723,117 บาท

โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุผลอื่น ๆ ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท และให้กรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาในการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้านั้น เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ (Purchase Agree For Supply of AZD1222 in Thailand; PA)) ในวงเงิน 3,670,292,517 บาท โดยดำเนินการจัดทำสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ในคราวเดียวกัน โดยสัญญาจัดซื้อวัคซีนมีผลผูกพันเมื่อได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะจัดทำคำของบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัคซีนตามสัญญาดังกล่าวต่อไป

ในการนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน 2,379,430,600 บาท งบกลาง จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้า ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) จากบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด ภายใต้เงื่อนไขว่า มีโอกาสที่จะได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่น ๆ

ทั้งนี้รัฐบาลมอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ทำการจองวัคซีนแบบล่วงหน้า (Advance Market Commitment : AMC) โดยจะเป็นการจัดหาวัคซีนร้อยละ 20 ของประชากร หรือ ประมาณ13 ล้านคน จำนวน 26 ล้านโด๊ส กับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบรัท AstraZeneca UK จำกัด ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในโลก