ไทยผนึกอาเซียนชูพลังงานสะอาด!?! ผลักดันปี ’65 ขายไฟฟ้าข้ามแดนแบบพหุภาคี ไทย-ลาว-มาเลย์-สิงคโปร์

1880

รัฐบาลไทยสนับสนุนอาเซียน ผนึกกำลังปรับเปลี่ยนพลังงานสู่พลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งเป้าหมาย ปี พ.ศ. 2565 ขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคี ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ ขณะที่กระทรวงพลังงานเคาะหนุนโรงไฟฟ้าชุมชนเปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้นายกฯสั่งการปี 2564 ราชการนำร่องใช้รถไฟฟ้า ขยายสู่ภาคขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงแท็กซี่ จักรยานยนต์ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยนำร่องในทางปฏิบัติแล้ว

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ 17 พ.ย. 2563 ที่ ประชุมครม.ได้เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่38 จัดขึ้นระหว่างวันที่17-20 พ.ย.นี้ ผ่านระบบทางไกล ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ในการนี้ มีเอกสาร 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1.ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายตามแผนปฎิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน พ.ศ.2559-2568  ซึ่งให้ความสำคัญในการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานในอาเซียน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมการใช้พลังงานของอาเซียนให้ได้ร้อยละ 23 ภายในปี 2568 และยืนยันความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน 

2.ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ครั้งที่ 17 ให้ความสำคัญของความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน +3 เพื่อไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค เปิดเวทีการเจรจาธุรกิจตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานใหม่ พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด

3.ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเซียตะวันออก ครั้งที่ 14 เน้นเรื่องการตอบสนองของภาคพลังงานต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงในการจัดหาพลังงานสะอาด ส่งเสริมการเป็นสังคมแห่งไฮโดรเจน ก๊าซธรรมชาติ และการจำกัดการใช้และการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

4.ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์  (The Lao PDR – Thailand – Malaysia – Singapore – Power Integration Project: LTMS – PIP) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการค้าพลังงานข้ามพรมแดนแบบพหุภาคี โดยทั้งสี่ประเทศจะดำเนินการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการดังกล่าวโดยส่งผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าของไทยและมาเลเซียในระยะเวลาสองปีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565 ถึง 2566

นางสาวรัชดา กล่าวสรุปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญที่อาเซียนและประเทศภาคีจะได้แสดงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายเปลี่ยนพลังงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ไฟฟ้า ปิโตรเลียม ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาคอาเซียน พลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน และเครือข่ายความร่วมมือการกำกับกิจการพลังงานของอาเซียน โดยสอดคล้องกับแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568 (AEC Blueprint 2025) และหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ คือ อาเซียนมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมการใช้พลังงานของอาเซียนให้ได้ร้อยละ 23 ภายในปี 2568 

ภายในประเทศนำร่องด้วยกองทุนพลังงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องกองทุนพลังงาน จะทำอย่างไรให้เกิดความทั่วถึง เป็นธรรมและโปร่งใส และเรื่องการดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทุกพื้นที่โดยเฉพาะเกษตรกร ถ้าสามารถทำโรงไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล จากขยะ หรือพลังความร้อน ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนการปลูกพืชของเกษตรกรได้ด้วย การทำนาที่ไม่ได้ผลก็อาจปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงานทดแทน และทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างอื่นได้ด้วย ทั้งการแก้ปัญหาด้านรายได้ การแก้ปัญหาการเผาวัสดุจากการเกษตร จะได้ส่งผลให้ลดการเกิด PM 2.5 ได้  ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยวันนี้มีการจัดทำแผนแม่บทแล้ว

นายกรัฐมนตรีได้ย้ำในที่ประชุมให้หาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าในรถจักรยานยนต์รับจ้าง เช่น Grab Bike และอื่น ๆ หรือแท็กซี่ที่ยังมีราคาสูงอยู่ โดยต้องหามาตรการที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเจรจาเพื่อจะดึงบริษัทใหม่ ๆ เกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ให้เข้ามาในประเทศไทย โดยในเรื่องนี้ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผนงานระยะสั้น ระยะปานกลาง 3 ปี ระยะยาว 5 ปีขึ้นไป การจะเปลี่ยนแปลงทันทีเลยนั้นคงไม่สามารถทำได้เพราะจะเกิดผลกระทบมาก

กพช.ผ่านนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไฟเขียวแนวทางใช้จ่ายเงินกองทุน เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานปีงบฯ 64 วงเงิน 6,500 ลบ. นายกฯ ย้ำหาแนวทางใช้รถไฟฟ้าในจยย.รับจ้าง-แท็กซี่