รัสเซียหย่าศึกอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน?!? เคลื่อนกองทหารรักษาสันติภาพเกือบ 2,000 นายคุมพื้นที่พิพาท

2502

เมื่อการทูตอย่างเดียวไร้ผลต้องผสมมาตรการทางทหาร สงครามอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจานที่ดำเนินมาเกือบ 2 เดือนเกิดความสูญเสียชีวิตประชาชนกว่า 1,300 คนและบ้านเรือนทรัพย์สิน ได้ยุติลงหลังจากรัสเซียเข้ามาเป็นตัวกลางอีกครั้ง ทั้งสองฝ่ายจึงยอมลงนามตกลงหยุดยิง เลิกรบกันในดินแดนพิพาทนากอร์โน-คาราบัค และยินยอมให้รัสเซียส่งทหารรักษาสันติภาพจำนวน 1,960 นายพร้อมยานเกราะ 90 คัน ประจำพื้นที่พิพาท 5 ปี แต่น่าจะยังไม่จบง่าย แม้ผู้มีอิทธิพลเบื้องหลังจะยอมออกหน้าห้ามปราม แต่ท่าทีของปชช.ทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมรับ 

ผู้นำอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานลงนามข้อตกลงหยุดยิง เพื่อยุติการสู้รบในดินแดนนากอร์โน-คาราบ้ค โดยมีรัสเซียเป็นคนกลาง โดยข้อตกลงนี้มีผลตั้งแต่เวลา 01.00 น. วันอังคาร (10 พ.ย.2563)ตามเวลาท้องถิ่น

นสพ.เดอะมอสโคไทมส์รายงานว่า ทั้งสองประเทศได้ทำข้อตกลงหยุดยิงร่วมกับรัสเซีย ตามข้อตกลงดังกล่าวอาเซอร์ไบจานสามารถควบคุมพื้นที่ที่ยึดมาได้ต่อไป ขณะที่อาร์เมเนียต้องถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทส่วนใหญ่ภายในกรอบเวลาที่กำหนด โดยรัสเซียจะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพประกอบด้วยทหาร 1,960 นายและยานเกราะลำเลียงพล 90 คัน ไปประจำอยู่ในพื้นที่เป็นเวลา 5 ปี เพื่อดูแลให้คู่พิพาทปฏิบัติตามข้อตกลง

สนข.รัสเซียทูเดย์ รายงานว่า ทหารรัสเซียซึ่งส่วนใหญ่มาจากกองพลน้อยยานเกราะที่ 15 สังกัดมณฑลทหารภาคกลาง (Central Military District รับผิดชอบพื้นที่แถบเทือกเขาอูราลและไซบีเรีย) เริ่มเดินทางโดยเครื่องบินลำเลียง Il-76 เข้าพื้นที่แล้ว นอกจากทหารรัสเซียแล้ว ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน อิลฮัม อาลิเยฟ (Ilham Aliyev) แถลงว่าจะมีทหารตุรกีมาร่วมภารกิจรักษาสันติภาพด้วย แต่โฆษกของนิโคล ปาชิเนียน (Nikol Pashinyan) นายกฯ อาร์เมเนียออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการหารือให้ทหารตุรกีร่วมภารกิจรักษาสันติภาพแต่อย่างใด

นสพ.เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานว่านายกฯ อาร์เมเนียเรียกข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าวว่าเป็นข้อตกลงที่เจ็บปวด การลงนามข้อตกลงหยุดยิงส่งผลให้ชาวอาร์เมเนียจำนวนมากไม่พอใจ มีชาวอาร์เมเนียหลายพันคนออกมาประท้วงรัฐบาล และบางส่วนได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ขณะที่พรรคฝ่ายค้านของอาร์เมเนียจำนวน 17 พรรคได้รวมตัวกันเรียกร้องให้นายปาชิเนียน ลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งความสูญเสียชีวิตและดินแดน รวมถึงความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงกับรัสเซีย

ยอมรับกันแบบไม่เต็มใจ

นายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชินยาน ของอาร์เมเนีย เผยว่า เขาลงนามข้อตกลงกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีอิลฮาม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน เพื่อยุติสงครามในดินแดนคาราบัก เป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับเขาและประชาชนของเรา “ผมตัดสินใจครั้งนี้หลังจากได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางทหารในเชิงลึกแล้ว” เขากล่าว

ด้านประธานาธิบดีอาลีเยฟของอาเซอร์ไบจาน กล่าวว่า ปาชินยานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลงนามข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ โดยอาร์เมเนียตกลงจะถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของนากอร์โน-คาราบัก

ประธานาธิบดีปูตินยืนยันเช่นกันว่า อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานตกลงหยุดยิงโดยสิ้นเชิง เพื่อเปิดทางให้แก้ไขความขัดแย้งในดินแดนนี้ในระยะยาว ทั้งสองชาติจะปักหลักในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของแต่ละชาติ และทหารรักษาสันติภาพของรัสเซียจะส่งมารักษาการณ์ในเขตเชื่อมต่อระหว่างดินแดนนากอร์โน-คาราบักกับพรมแดนอาร์เมเนีย  ปูตินกล่าวว่า ผู้พลัดถิ่นจะได้รับอนุญาตให้กลับคืนถิ่นเดิม และจะมีการแลกเปลี่ยนนักโทษและศพผู้เสียชีวิตจากการสู้รบ

ข้อตกลงหยุดยิงนี้ยุติการสู้รบระหว่างอาร์เมเนียกับอาร์เซไบจานที่ดำเนินมา 6 สัปดาห์ ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,300 คน รวมถึงพลเรือนหลายสิบคน และเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอาเซอร์ไบจานยอมรับว่ายิงเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพรัสเซียขณะบินอยู่ในอาร์เมเนียโดยไม่ได้ตั้งใจ กระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวว่า ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์เอ็มไอ-24 ลำนี้เสียชีวิต 2 คนหลังจากโดนยิงตกขณะบินใกล้ชายแดนอาเซอร์ไบจาน อาเซอร์ไบจานรีบขอโทษต่อรัสเซียอย่างรวดเร็ว และกล่าวโทษเหตุการณ์นี้ว่าเกิดเพราะ “สถานการณ์ตึงเครียดในภูมิภาคและความพร้อมรบเพิ่มขึ้น” ของกองทัพพวกเขา รัสเซียมีข้อตกลงทางทหารกับอาร์เมเนียและมีฐานทัพอยู่ในประเทศนี้ แต่รัสเซียยืนกรานว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในความขัดแย้งกับอาเซอร์ไบจานเว้นแต่ดินแดนของอาร์เมเนียจะตกอยู่ในอันตราย

ดินแดนคาราบักซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นอาร์เมเนีย ประกาศเอกราชจากอาเซอร์ไบจานเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน แต่นานาชาติไม่ยอมรับ แม้แต่อาร์เมเนีย คาราบักยังถือเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ความพยายามไกล่เกลี่ยหยุดยิงโดยฝรั่งเศส, รัสเซีย และสหรัฐ หลายครั้งพังครืนภายในไม่กี่สัปดาห์ ก่อนหน้าการลงนามข้อตกลงฉบับล่าสุด อาเซอร์ไบจานพยายามผลักดันให้ตุรกีเข้ามามีส่วนร่วมในการไกล่เกลี่ยด้วย ข้อตกลงฉบับใหม่นี้เกิดขึ้นภายหลังประธานาธิบดีปูตินพูดคุยกับประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอาน ของตุรกี และข้อตกลงล่าสุดนี้ ทำให้ชาวอาร์เมเนียบางส่วนไม่พอใจ บุกเข้าไปในที่ทำการของรัฐบาลหลายแห่งในกรุงเยราวานเมื่อวันอังคาร ทำลายทรัพย์สินของราชการ รวมถึงเข้าไปในห้องประชุมของอาคารรัฐสภา และเรียกร้องให้นายกฯ ปาชินยานลาออก

งานนี้ไม่วิน-วินแต่ปฏิเสธไม่ได้

เมื่อรัสเซียส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าพื้นที่แล้ว ต่อไปอาเซอร์ไบจานก็คงเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกเหมือนคราวก่อนๆ รัสเซียเลือกแนวทางที่สร้างความเสียหายน้อยที่สุด เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับทั้งอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และตุรกี โดยการยื่นมือเข้ามาปกป้องอาร์เมเนียในช่วงนาทีสุดท้าย ซึ่งอาร์เมเนียยังสามารถรักษาพื้นที่พิพาทไว้ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ไม่ถึงกับแพ้หมดรูป หลังจากนี้ไม่ว่าอาร์เมเนียจะถอนทหารทั้งหมดจริงหรือไม่ อาเซอร์ไบจานก็ทำอะไรมากไม่ได้ ขณะที่อาเซอร์ไบจานก็สามารถยึดเมืองสำคัญอันดับสองในพื้นที่คือเมืองชูชา (Shusha) ได้ สามารถโฆษณาเรื่องชัยชนะทางทหารได้เต็มที่ สำหรับการประท้วงในอาร์เมเนีย ถ้ารัฐบาลของนายปาชิเนียนเกิดล้มไป ก็อาจเป็นผลดีกับรัสเซียเช่นกัน เพราะนายปาชิเนียนมีอำนาจขึ้นมาหลังการปฏิวัติหลากสีเมื่อปี ค.ศ.2018 ค่อนข้างเอนเอียงไปทางตะวันตก แต่ด้วยสภาพที่ตั้งของอาร์เมเนียส่งผลให้ไม่สามารถตีตัวออกห่างรัสเซียได้ ถ้าอาร์เมเนียมีการเปลี่ยนผู้นำได้ผู้นำที่โปรรัสเซียมากขึ้นก็ถือเป็นผลพลอยได้สำหรับรัสเซีย

สำหรับประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือตุรกี สามารถแผ่อิทธิพลเข้าไปในแถบเทือกเขาคอเคซัส หลังบ้านของรัสเซีย พัฒนาความสัมพันธ์กับอาเซอร์ไบจาน เป็นพื้นฐานในการสร้างท่อก๊าซจากอาเซอร์ไบจานมายังตุรกี ลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย นอกจากนี้ยังได้โอกาสแสดงขีดความสามารถยุทโธปกรณ์ของตุรกีโดยเฉพาะโดรนอีกครั้งหนึ่ง อาจถือได้ว่าเป็นชัยชนะทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งของตุรกี น่าติดตามว่าตุรกีซึ่งตอนนี้มีคู่กรณีเยอะมากทั้งกรีซ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ซีเรีย อิรัก อาร์เมเนีย ฯลฯ จะชนะต่อไปได้อีกกี่ยก

ความสำคัญของดินแดนแห่งนี้ ซึ่งถูกกำหนดว่า ภูมิภาคตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัส ถือว่า มีความสำคัญในฐานะเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซสู่ตลาดพลังงานโลก