“คนละครึ่ง”ตอบรับดีเยี่ยม!?! ผู้ใช้10 ล้านสิทธิ์ ร้านเข้าร่วมกว่า 6 แสนร้านทำเงินหมุน 2.88 หมื่นล้านบาท

1754

ประเมินผลการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 500 บาท “คนละครึ่ง” และ “ช้อปดีมีคืน” ปรากฏว่า คนละครึ่งท้อปฮิต ทั้งผู้ใช้ 10 ล้านคนร้านค้ากว่า 6 แสนร้าน ทำเงินหมุนเวียนรวม มียอดใช้จ่ายผ่านแอพฯ “เป๋าตัง” 28,819.9 ล้านบาท คาดตอบโจทย์กระตุ้นกำลังซื้อฐานรากได้จริง เตรียมเปิดเฟสสองเป็นของขวัญปีใหม่

“มาตรการนี้สิ้นสุดเดือนธ.ค. กำลังพิจารณาหลังได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งร้านค้ารวมไปถึงหาบเร่แผงลอย นี่คือจุดเริ่มต้นในการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในบ้านเรา คิดว่าจะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

คนละครึ่งตอบรับดียิ่ง-ผลลัพธ์ดีเยี่ยม
มาตรการ “คนละครึ่ง”ได้รับคำชมจากทั้งผู้ใช้ และร้านค้า ลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น จนทั้งผู้ได้สิทธิและร้านค้าต่างประสานเสียงเดียวกันให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการคนละครึ่งออกไปอีก

ความสำเร็จของมาตรการคนละครึ่งยังเห็นได้จากการลงทะเบียนเก็บตกผู้ที่ได้สิทธิ 10 ล้านคนรอบแรก มี 2.5 ล้านคน ไม่ใช้จ่ายสินค้าภายใน 14 วัน จึงโดนตัดสิทธิ และได้มีการนำมาให้ประชาชนที่สนใจจองสิทธิรอบใหม่ในวันที่ 11 พ.ย. 2563 ที่แย่งจองกันจนเว็บล่มและสิทธิเต็มหลังจากเปิดให้จองไม่กี่ชั่วโมง ความฮอตของมาตรการคนละครึ่ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นวิธีที่ถูกจังหวะเวลา เพราะได้ใจคน 10 ล้านคน กับร้านค้าที่คาดว่าจะทะลุหลัก 1 ล้านร้านในไม่ช้านี้

กระทรวงการคลังออกมาประกาศว่า จะทำมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 หลังจากเฟส 1 สิ้นสุดสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนและร้านค้ารายย่อย ยิ่งทำให้รัฐบาลบิ๊กตู่ได้ใจได้คำชมข้ามปีไปด้วย ร้านค้าที่เข้าโครงการมีแต่ร้านค้าขนาดเล็ก ประเภทโชห่วย เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา หาบเร่ แผงลอย ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายเสื้อผ้า ร้านในตลาดนัด ตลาดสด ฯลฯจำนวนรวมเกือบ 6 แสนร้านค้าตอกย้ำว่า โครงการเป็นประโยชน์จริงๆ มันใช้ได้จริง ประหยัดเงินในกระเป๋าได้จริงๆ

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. ปรากฏว่า มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.57 แสนร้านค้าและผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 7,352,274 คน มียอดการใช้จ่ายสะสม 10,155 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 5,178 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 4,977 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 214 บาทต่อครั้ง จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

ยอดใช้จ่ายผ่านแอพฯเป๋าตังกระฉูด
มาตรการดังกล่าว มีผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่าน g-Walletแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ และติดตั้งแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” มีผู้ได้รับสิทธิจำนวน 14,354,159 คน มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 11,802,073 คน และมีร้านค้าที่มีผู้ไปใช้สิทธิจำนวน 103,053 ร้าน มียอดใช้จ่ายผ่าน g-Wallet รวม 28,819.9 ล้านบาท

แบ่งเป็น การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 1 (เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 1,000 บาท) จำนวน 11,671.8 ล้านบาท และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 2 (ประชาชนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายและได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐร้อยละ 15 หรือ 20 ของยอดใช้จ่ายจริง) จำนวน 17,148.1 ล้านบาท

มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อฝั่งเศรษฐีขยายตัว
การประเมินความคุ้มค่าของ “มาตรการชิมช้อปใช้” พบว่า มีการใช้สิทธิทั่วภูมิภาคและทุกจังหวัด โดยมาตรการชิมช้อปใช้มีผลบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ผ่านตัวทวีคูณ (Multiplier) 3.3 เท่า ซึ่งประเมินว่าได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.1 – 0.3 และมีผลบวกต่อเศรษฐกิจรายจังหวัด ซึ่งสะท้อนได้จากการบริโภค การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ในช่วงของการดำเนินมาตรการ