Truthforyou

ครม.ไฟเขียวขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้!?! ช่วยชาวไร่อ้อยพักเงินต้น-ดอกเบี้ยสินเชื่อไปอีก 1 ปีเล็งเพิ่มงบฯอีก185 ล้านบาท

รัฐบาลเดินหน้า ช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยทบทวนมติครม.(มิ.ย.2562) ขยายระยะเวลาชำระคืนหนี้เงินกู้ และพักเงินต้น-ดอกเบี้ยสินเชื่อปี 2559 – 2561 และปี 2562 – 2564 ออกไปอีก 1 ปี บรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวไร่อ้อย พร้อมกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย เพื่อเตรียมรับฤดูหีบอ้อยธ.ค.นี้

รัฐช่วยผ่อนคลายปัญหาหนี้สินเกษตรกรไร่อ้อย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกนัฐมนตรีเปิดเผยว่า  คณะรัฐมนตรีทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ขยายระยะเวลาชำระคืนหนี้เงินกู้ในโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562 – 2564  

เงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยจากเดิมที่มีขยายระยะกำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นจากเดิมไม่เกิน 4 ปี เป็น ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2570 
เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรขยาย ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี จากเดิมกำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี  แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2572 
การพักชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย โครงการ ฯ ปี 2559 – 2561 และโครงการ ฯ ปี 2562 – 2564  เป็นระยะเวลา 1 ปี  ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วย อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งว่า การพักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยสำหรับโครงการ ฯ ปี 59-61 นั้น งบประมาณที่ได้รับอนุมัติมีเพียงพอ อย่างไรก็ตาม โครงการ ปี 62-64 จำเป็นต้องขอจัดสรรกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีก 185.05 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 59-61 และปี  62 – 64 นั้น เป็นการให้สินเชื่อเพื่อใช้พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย  ปรับพื้นที่ปลูกอ้อย และจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร  เช่น รถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 

นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบ
-กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10CCS สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ในอัตรา 790.62 บาทต่อตันอ้อย และ
-ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 338.84 บาทต่อตันอ้อย 
ส่วนฤดูกาลผลิตปี 2561/62 อยู่ในอัตราตันอ้อยละ 680.77 บาท และ
ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 291.76 บาทต่อตันอ้อย 

ซึ่งทั้ง 2 ฤดูกาลผลิตต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น       –กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจึงต้องจ่ายชดเชยให้โรงงานในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 จำนวน 19,730.74 ล้านบาท และฤดูกาลผลิตปี 2561/62 จำนวน 3,068.47 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 22,799.21 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนรวม 4,649.46 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2560/2561 และ ฤดูการผลิต ปี 2561/2562 ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ แต่เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย

ปัญหาเดิมๆของอ้อย-น้ำตาลจะวนกลับมาหรือเดินหน้าพัฒนา

ฤดูหีบอ้อยปี 2563/64 ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดหีบช่วงธันวาคมเช่นทุกปีที่ผ่านมา กำลังเป็นความท้าทายอีกครั้งสำหรับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เมื่อวิถีการตัดอ้อยแบบเดิมๆ เปลี่ยนไป เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ช่วงกุมภาพันธ์ 2562 ที่ปกคลุมหลายพื้นที่ของไทยโดยเฉพาะภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลายคนอาจลืมไปแล้วเรื่อง“การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เมื่อตุลาคม 2562 และมาตรการหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่มีการเผาอ้อยภายในปี 2565

ผ่านมา 1 ปี ชาวไร่อ้อยยังคงต้องมาคอยลุ้นว่ารัฐจะมีงบประมาณช่วยเหลือปัจจัยการผลิตอ้อย เพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้สูงขึ้นแต่ละปีว่าจะมีหรือไม่ มีเท่าใดและจ่ายให้อย่างไร  ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้การวางแผน เพาะปลูกไม่ง่ายเช่นอดีต แต่สำหรับชาวไร่อ้อยแล้วต่างก็ยืนยันว่าต้องการยกระดับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วยการพยายามลดอ้อยไฟไหม้ เพียงขอเวลาเพราะยังมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ทั้งรถตัดที่ยังมีจำกัด แรงงานที่นับวันก็หายากขึ้น ฤดูหีบแต่ละครั้งก็ต้องดูอากาศจะเป็นใจหรือไม่

มองเห็นความพยายามของภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย แต่ยังไม่เห็นแนวทางความยั่งยืนของอาชีพเกษตรไร่อ้อย เดือนหน้าติดตามดูการปรับตัวของทั้งภาครัฐ-เอกชน-เกษตรกรชาวไร่อ้อย ก็จะได้คำตอบว่า แย่ลง-เหมือนเดิม-ดีขึ้น

Exit mobile version