ความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 เริ่มมองเห็นความชัดเจนมากขึ้น บริษัทวิจัยทั้งสหรัฐ รัสเซีย จีนเริ่มขั้นตอนสุดท้ายการทดสอบระยะที่ 3 แล้ว โดย อังกฤษ, ญี่ปุ่น และไทยตามมาติดๆ โดยจะเป็นการทดสอบในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า หากการทดสอบประสบความสำเร็จ จะสามารถผลิตวัคซีนได้ภายในสิ้นปีนี้
สหรัฐอเมริกา บริษัท Moderna ของสหรัฐฯ กล่าวว่าได้เริ่มการทดลองวัคซีนต้านโคโรนาไวรัส ในขั้นที่มีผู้ใหญ่จำนวน 30,000 คนร่วมการทดสอบแล้ว ในการทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนครั้งนี้ Moderna ร่วมกับ สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ National Institute of Allergy and Infectious Diseases โดยเริ่มการวิจัยที่เมืองซาวานนาห์ รัฐจอร์เจีย ด้วยความเร่งด่วนในการทดลองเพื่อช่วยควบคุมการระบาดในสหรัฐฯ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่มีชื่อว่า “Operation Warp Speed” ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 4.2 ล้านคนในสหรัฐฯ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 147,000 รายแล้ว
รัสเซีย สถาบันระบาดวิทยากามาเลยา (Gamalei) ในกรุงมอสโกร่วมด้วยกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย โดยการทดสอบวัคซีนเฟสที่ 2 ซึ่งทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครภายในประเทศสิ้นสุดในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ โดยที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่าผู้เข้าร่วมทดลองคนใดได้รับผลกระทบข้างเคียงอย่างรุนแรง ไม่ประทบต่อปัญหาสุขภาพหรือมีปฏิกริยาต่อต้าน และเตรียมเดินหน้าเข้าสู่เฟสที่ 3 ต่อเนื่อง โดยจะทดสอบในหมู่ครู เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครในเดือนตุลาคม หลังจากทดลองประสิทธิภาพในกลุ่มตัวอย่างอีกหลายพันคนในหลายๆ ประเทศ เมื่อมั่นใจไร้ผลข้่างเคียงจะผลิตภายในสิ้นปีนี้ทันที
จีน The Lancet วารสารทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ผลการทดลองวัคซีน Ad5 เฟส 2 ในมนุษย์ที่มีการดำเนินการในจีน พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย และสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโควิด-19จีนได้ใช้อาสาสมัครจำนวน 508 รายสำหรับการทดลอง วัคซีน Ad5 ในเฟส 2 โดยมีจำนวนสูงกว่าเฟสแรกที่ใช้อาสาสมัครเพียง 108 ราย และขณะนี้ จีนกำลังเตรียมการสำหรับการทดลองในเฟส 3
วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดย CanSino Biologics Inc และหน่วยงานวิจัยของกองทัพจีน แม้ในขณะนี้ผลการทดลองจะเผยให้เห็นว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่ แต่ผู้วิจัยระบุว่า เนื่องจากหลังการฉีดวัคซีนแล้ว ยังไม่มีผู้เข้าร่วมการทดสอบได้สัมผัสกับไวรัส SARS-CoV-2 (ซึ่งเป็นชื่อทางการของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19) ดังนั้น จึงยังสรุปไม่ได้ว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม วัคซีนดังกล่าวได้รับอนุมัติให้ใช้ในกองทัพจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากทีมวิจัยจากมหาอำนาจทั้ง 3 แล้ว ประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย ที่มีศักยภาพทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ต่างก็เร่งมือค้นคว้าทดลองอย่างจริงจัง
อังกฤษ วัคซีนที่เรียกว่า AZD1222 ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมระหว่าง AstraZeneca กับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดแห่งสหราชอาณาจักร ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงร้ายแรงใดๆ รวมทั้งเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อต้านและทำลายไวรัส และภูมิคุ้มกัน T-cells ที่โจมตีไวรัส การทดลองหนล่าสุดนี้ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ทดลองผู้ใหญ่อายุ 18-55 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรง 1,077 คน และไม่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 “ข้อมูลในวันนี้ เพิ่มความมั่นใจให้เราว่าวัคซีนจะได้ผล
ญี่ปุ่น Anges สตาร์ตอัพด้านการแพทย์ญี่ปุ่น เตรียมทดลองวัคซีนโควิดกับคนครั้งแรก คณะกรรมการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนครโอซากา (Osaka City University Hospital) ได้อนุมัติการทดลองทางคลินิกข้างต้นอย่างเป็นทางการแล้ว การทดลองจะเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล โดยจะเริ่มรับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองในเดือนสิงหาคม โดยเป้าหมายสำคัญคือการได้รับอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนโรคโควิด-19 ภายในฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูใบไม้ร่วงของปีหน้า
ไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดmRNA ที่มีชื่อว่า “Chula-Covid19” ซึ่งพัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคกองทุนวิจัยวัคซีน ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่ 2 พบว่า ลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผน
ซึ่งศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะเริ่มสั่งผลิตวัคซีน mRNA จำนวน 2 ชนิด ซึ่งแตกต่างกันในแง่ของพันธุกรรมเล็กน้อย โดยส่งผลิต 2 โรงงาน ได้แก่ โรงงานแรกในสหรัฐ ผลิตเนื้อวัคซีน คาดแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2563 และส่งไปยังโรงงานที่ 2 ในแคนาดา ผลิตไขมันเคลือบวัคซีน ในเดือน พ.ย. 2563 เพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ตามแผน โดยต้องเตรียมวัคซีนราว 10,000 โดส ใช้ได้ 5,000 คน แบ่งการทดลองในมนุษย์เป็น 3 ระยะ ระยะแรก อาสาสมัครจำนวน 150 คน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แล้วเสร็จประมาณสิ้นปี 2563 ระยที่ 2 จะใช้อาสาสมัครประมาณ 500-1,000 คน คาดว่าจะรู้ผลในกลางปี 2564 ส่วนระยะที่ 3 ซึ่งต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ อาจทดลองในประเทศไทยไม่ได้ เพราะไม่มีคนติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องมีการหารือกับทางประเทศที่มีการระบาดของโรคอยู่