เกษตรฯจับมือพาณิชย์ฯ !?! นำ3 พ.ร.บ.คุมยี่ปั๊วป้องราคายาง ปูพรมตรวจเข้ม เจอผิดบังคับใช้กม.ทันที

2072

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือกระทรวงพาณิชย์ ถกปัญหาราคายางตกต่อเนื่องทั้งๆที่ สถานการณ์ความต้องการยางตลาดโลกพุ่ง เพื่อใช้ในการผลิตถุงมือยางและอุตสาหกรรมการแพทย์และยางรถยนต์  ในการนี้มติที่ประชุมเห็นพ้องต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ใช้พ.ร.บ.3 ฉบับ ให้จุดรับซื้อติดป้ายแสดงราคา ,ผู้ค้าทุกรายต้องมีใบอนุญาต และมีการรายงานบัญชีการซื้อขาย หวังคุมราคายางให้มีเสถียรภาพ พร้อมปูพรมลงพื้นที่ตรวจเข้ม หากเจอมีความผิด จะบังคับใช้กฎหมายจัดการทันที

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ประชุมติดตามสถานการณ์ราคายางพารา เร่งนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยางพารามาบังคับใช้พร้อมตั้งคณะติดตามราคายางผันผวน

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้ ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ราคายางพาราผันผวน ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ 
มติที่ประชุมเห็นชอบให้นำมาตรการทางกฎหมายเพื่อมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 

  1. ใช้กฎหมาย-พ.ร.บ.ว่าด้วยและสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2560 
  2. กำหนดให้จุดรับซื้อยางต้องติดป้ายแสดงราคารับซื้อยางพาราที่ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจขายยางของเกษตรกร 

หากพบว่าผู้ประกอบกิจการยางหรือผู้รับซื้อยางมีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่าร่วมกันกำหนดราคาหรือเงื่อนไข กฎเกณฑ์ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งถือว่า  เป็นการทำร้ายเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง 

  1. ระบุให้ผู้ค้ายางทุกรายจะต้องมีใบอนุญาตค้ายาง และต้องรายงานบัญชีการซื้อขายยาง ตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 

ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและการยางแห่งประเทศไทย จะร่วมมือกันในการออกตรวจใบอนุญาตค้ายางแบบปูพรมทุกพื้นที่อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ กยท. ยังมีโครงการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางควบคู่กับมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว เช่น โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกร การเพิ่มจุดรับซื้อและรวบรวมน้ำยางสด โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เพื่อลดความเสี่ยงด้านรายได้

สถานการณ์ราคายางพาราผันผวน  
ราคายางปรับลดลงจากวันที่ 30 ต.ค.ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 80.01 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ถึงวันที่ 9 พ.ย.ราคายางลดลง 19 บาทต่อกก.เหลือ 60.95 บาทต่อกก.

ปัจจัยจากผู้ประกอบการเก็งกำไรในช่วงสถานการณ์ผันผวน นักลงทุนเทขายในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศเพื่อทำกำไร และปริมาณสต๊อกยางเซี่ยงไฮ้ปรับตัวสูงขึ้น ณ วันที่ 6 พ .ย. 2563 อยู่ที่ 253,537 ตัน เพิ่มขึ้น 5,627 ตัน จากสัปดาห์ก่อนเนื่องจากมีการซื้อเข้าสูงในช่วงก่อนหน้า และ ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การขาดแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ มาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐ รวมทั้งสถานการณ์โรคใบร่วง และสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตก พายุเข้า 

โครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2
ผู้ว่าการการยางฯกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 เพื่อช่วยเหลือเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ลดผลกระทบที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกร เช่น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) การขาดแรงงานกรีดยาง และผลจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า 

โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย คิดเป็นพื้นที่จำนวน 18,286,186.03 ไร่ 

สวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด เริ่มจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวสวนยางงวดแรกเดือน พฤศจิกายน 2563

การกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้แบ่งออกเป็น ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กก./ไร่ และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กก./ไร่ แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดยาง ร้อยละ 40 (60:40) 

ราคายางที่ประกันรายได้แบ่งตามประเภท ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC100%) 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. ใช้วงเงินงบประมาณรวม 10,042 ล้านบาท