บีทีเอสชนบีอีเอ็ม!?! ลงสนามชิงรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตกมูลค่า 1.4 แสนล้าน ยื่นซองพร้อมขนเอกสารกว่า 400 ตู้

1943

บีทีเอส-บีอีเอ็ม ตบเท้ายื่นซองตามนัดแค่สองราย ชิงรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่เงื่อนไขการประมูลยังไม่ชัด ว่าจะได้ใช้เกณฑ์เก่าหรือเกณฑ์ใหม่ เพราะศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับใช้ TOR ใหม่ และรฟม.ยื่นอุทธรณ์ศาลค้านคำสั่งนั้น หากผลให้ยืนตามคำสั่งศาลก็ไม่มีปัญหา หากผลเปลี่ยนแปลงจะเกิดอะไรขึ้น ความรู้สึกของสาธารณชนงุนงงกับการตัดสินใจของรฟม.ไม่น้อย คาดว่าจะยังยืดเยื้อท่ามกลางความแคลงใจในความโปร่งใส รอดูผลสรุปบั้นปลายจะจบแบบไหน

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ยักษ์ระบบรางชนกันแค่สองกลุ่ม

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นเอกสารเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท โดยมีบริษัท ยื่นซองข้อเสนอร่วมลงทุนฯครั้งนี้ 2 ราย จากทั้งหมดที่มีเอกชนสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ 10 รายตอนขายซองฯ

สำหรับเอกชนที่เดินทางมายื่นซองเอกสารร่วมประมูลได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  พร้อมเอกสารประมูลกว่า 200 กล่อง โดยการยื่นเอกสารประมูล ไม่ได้รวมกลุ่มกับรายใดและกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)    บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)และ บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นาย ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)  เดินทางมายื่นเอกสารประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์– มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

นายสุรพงษ์ กล่าวภายหลังยื่นซองการประมูลฯ ว่า ได้เดินทางมายื่นซองการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  ซึ่งสัดส่วนถือหุ้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้  ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นั้น ยังสนใจที่จะเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ เราจึงยังใช้ชื่อ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ส่วนจะร่วมภายหลังได้หรือไม่นั้นต้องรอดูตอนที่ชนะอีกครั้ง 

ส่วนเงื่อนไขการประมูลยังไม่สามารถบอกได้เพราะยังอยู่ในระหว่างประกวดราคา การทำข้อเสนอของเราที่เตรียมมาในวันนี้ทำเต็มที่ และยื่นครบทั้งหมด 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม รวม 400 กว่าลัง  ส่วนเงื่อนไขเรายังทำตามทีโออาร์แรก

 “วันนี้บีทีเอสพร้อมมาก เราเป็นคนทำงานก็ต้องมั่นใจเต็มที่  ถ้าชนะเราอาจจะหาคนที่มาเป็นหุ้นส่วนได้ภายหลัง ส่วนกรณีหลังจากมีคำสั่งศาล รฟม. ยังไม่มีการเรียกคุยอะไร”

ยื่นซองทั้งที่ข้อพิพาทยังคาราคาซัง

ก่อนหน้านี้ได้เกิดข้อพิพาท จากการปรับวิธีการประเมินการยื่นซองประกวดราคา รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการขยายระยะเวลาให้เอกชนยื่นซองไป 45 วันครบกำหนดในวันนี้ ส่วนข้อพิพาทนั้น นับจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวนวิธีการประเมินข้อเสนอ การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดยอ้างว่า โครงการนี้ไม่ควรให้พิจารณาให้ผู้ชนะประมูล เป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จด้วย ต่อมา รฟม.ได้ออกประกาศ ปรับ หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก รฟม. ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน หรือตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.ค.63

ทั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่ม บีทีเอส ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองวันที่ 17 ก.ย.63 ที่ผ่านมา ขอคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการ มาตรา 36 ที่ปรับปรุงให้มีการขยายเวลา และเพิกถอนเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) เกี่ยวกับการประเมิน และร้องให้ศาลสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ

หลังจากนั้น 20 ต.ค 63 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีระหว่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดี ต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวก คือ รฟม. รวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้ รฟม.ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติมไป ทั้งนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36และฝ่ายกฎหมาย รฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลไปแล้วเมื่อวันที่ พ.ย.63 ที่ผ่านมา