3สายการบินไทยเดี้ยงขาดทุนยับ!!! จับตาไทยไลออนแอร์ต่อแถวยื่นฟื้นฟู เหตุหนี้ท่วม?!?

3160

ธุรกิจการบินของไทยยังอาการหนัก  ต่อแถวยื่นฟื้นฟูกิจการ ทั้งการบินไทย นกแอร์  หลังขาดสภาพคล่องหนี้ท่วม แม้ทอท.ยังเสี่ยงขาดทุน วงการจับตา “ไทยไลอ้อนแอร์” จะตามรอยเข้าฟื้นฟูหรือประคองตัวไปได้

อุตสาหกรรมการบินซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก สายการบินทั่วโลกต่างขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีหนี้สินล้นพ้นตัว จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กฎหมายล้มละลาย สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกและประเทศไทยก็เช่นกัน

รายแรกได้แก่ บมจ.การบินไทย สายการบินแห่งชาติได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางไปแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไปเมื่อ 26 พ.ค.2563  และได้นัดไต่สวนคำร้องฟื้นฟูกิจการวันที่ 17 ส.ค. 2563 ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 การบินไทยมีหนี้สินรวม 352,484 ล้านบาท หนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากการเช่าเครื่องบินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท และเป็นหนี้หุ้นกู้ 7.42 หมื่นล้านบาท 

ในการนี้ ได้มอบหมายให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับคณะกรรมการบริษัท 6 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการของบริษัท เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทและเมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บมจ.การบินไทย ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท แมคคินเซย์ แอนด์ คอมพานี มาเป็นที่ปรึกษาด้านการบิน เพื่อเข้ามาร่วมทำแผนธุรกิจใหม่

สายการบินนกแอร์ ยื่นศาลล้มละลายตามรอยการบินไทย

บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อ 30 ก.ค. 2563 บริษัทได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท วาระพิเศษ มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ผู้ทำแผน) ต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันเดียวกัน และศาลก็ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้วในวันเดียวกัน โดยได้นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563

ทั้งนี้สายการบินนกแอร์ระบุถึงแนวทางการฟื้นฟูกิจการว่า จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้น พร้อมกับยกเครื่องธุรกิจปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน-ฝูงบิน และการปรับกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคล

โดยบริษัทได้เสนอให้บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา นายไต้ ชอง อี นายเกษมสันต์ วีระกุล นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัท เป็นผู้ทำแผน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จก่อนการระบาดโควิด-19 จะยุติลง

ทอท.อ่วมพิษโควิด ผลประกอบการขาดทุน ฉุดสภาพคล่อง 

ทอท.ยอมรับว่าปีงบประมาณ 2564 ทอท. มีความเสี่ยงขาดทุนมาก และน่าจะแย่กว่าปี 2563 เพราะไม่มีช่วงที่ผู้โดยสารเดินทางเข้ามาสูงเหมือนปี 2563 ที่ ทอท.ยังมีปริมาณการเดินทางช่วง 4 เดือนนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-ม.ค.2563) ทอท.ทำรายได้ไว้ค่อนข้างสูง สามารถนำมาใช้บริหารจัดการให้ 8 เดือนที่เหลือผ่านพ้นไปได้ในยามที่ต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19  อีกทั้งประเมินว่าในปี 2564 อาจเป็นช่วงที่ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากก่อนเกิดโควิด-19 ทอท. มีสภาพคล่อง 7 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะนี้เหลือ 5 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งน่าจะพอถึงสิ้นปี 2563 ขณะเดียวกันในปี 2564 ทอท.ยังคงแผนลงทุนอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง จากการขยายระยะเวลาการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ

จับตา “ไทยไลอ้อนแอร์”ที่ผ่านมาก็เผชิญมรสุมด้านต้นทุนและสภาพคล่องอย่างหนักเช่นกัน ทำให้วงการธุรกิจการบินจับตามองว่า จะต่อแถวยื่นฟื้นฟูด้วยหรือไม่ เพราะเป็นวิธีที่จะสามารถบริหารสภาพคล่องและพักชำระหนี้ ทำให้ดำเนินธุรกิจค้อไปได้

ปี 2563 นับเป็นปีที่ยากลำบากของธุรกิจสายการบิน เนื่องจากน่านฟ้าถูกปิดถาวรต่อเนื่องมา 4-5 เดือนเต็ม ๆ แม้ว่าปัจจุบันจะเปิดให้บินเส้นทางบินภายในประเทศได้ก็ตาม แต่ปริมาณการเดินทางของกลุ่มคนไทยก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับซัพพลายที่มีอยู่ เนื่องจากการประเมินการลงทุนของสายการบินต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการลงทุนเพื่อรองรับนักเดินทางต่างชาติเป็นหลัก เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่พัก

ประกอบกับสายการบินเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง โดยเฉพาะต้นทุนค่าเครื่องบินและบุคลากร ทำให้ต้องใช้กระแสเงินสดหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก เมื่อเครื่องบินไม่สามารถบินได้ ไม่มีรายได้เข้า ธุรกิจจึงสะดุดและเกิดปัญหาสภาพคล่องทันที วิกฤตโควิดจึงทำให้สายการบินจำนวนมากทั่วโลกล้มละลายเป็นจำนวนมาก

…………………………………………………..