รัฐบาลเคาะยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี และประกาศประกันราคาข้าวอุ้มชาวนา ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ขณะที่การส่งออกยังแพ้เพื่อนบ้านทั้งราคา,คุณภาพข้าว ถ้าไม่แก้ปัญหาวันนี้ ฝันนี้ไม่มีวันเป็นจริง แนวคิดยุทธศาสตร์ข้าวยังวนเวียนอยู่กับการประกันราคาซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลางยังให้ความสำคัญกับการค้าขายซึ่งขึ้นต่อตลาดโลก ตราบใดที่ยังไม่เน้นตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีรายได้จากส่งออกแค่ไหน ชาวนาไทยไม่มีวันรวยและก็ยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะการทะลวงห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบของข้าวที่อยู่ในมือของนายทุนขาใหญ่ ไม่ง่าย?
สถานการณ์ข้าวไทย
-กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2563 มีปริมาณรวม 4,041,858 ตัน มูลค่า 84,480.9 ล้านบาท (2,702.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยปริมาณส่งออกลดลง 31.89% และมูลค่าส่งออกลดลง 15.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ที่มีการส่งออกปริมาณ 5,934,547 ตัน มูลค่า 100,012.3 ล้านบาท (3,191 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
-นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนในการแข่งขันข้าวโลกคือมีต้นทุนการผลิตสูงและมีความหลากหลายด้านพันธุ์ข้าวน้อย จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ข้าว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดการส่งออกในปัจจุบัน ด้วยการรักษาตลาดเก่าไว้ควบคู่ไปกับการขยายตลาดใหม่
-นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดูแลพี่น้องเกษตรกรเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ มีทั้งโครงการหลักและโครงการเสริม ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมา
ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาพันธ์ข้าวไทยแบบครบวงจร สร้างความหลากหลายที่ตอบสนองต่อความต้องการตลาด/ผู้บริโภค แบบเฉพาะกลุ่ม กำหนดโซนนิ่งปลูกข้าวพันธุ์ที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และประมาณน้ำ เป้าหมายของรัฐบาล คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย ดังนั้น รัฐบาลกับเกษตรกรต้องร่วมมือกันเพราะให้การเกษตรเป็นอาชีพที่เลี้ยงตนเองได้และเกษตรกรกรทุกรายมีรายได้ที่เพียงพอ
ยุทธศาสตร์ข้าวไทยมาถูกทางหรือยัง?
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 4/2563 มีมติเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตั้งเป้า “ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุม และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมด้วย
ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 มีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้
- ด้านการตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นการสนองต่อความหลากหลายของตลาดข้าวซึ่งมีความต้องการข้าวที่หลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวพื้นนุ่มที่เป็นความต้องการของตลาดในปัจจุบันรวมทั้งการลดต้นทุนทางการตลาด
- ด้านการตลาดภายในประเทศ ดำเนินการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของการบริโภคในประเทศและการผลิตในประเทศ
- ด้านการผลิต เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องใช้สนองตอบต่อความต้องการของตลาดจะดำเนินการ
-ประการที่หนึ่ง ลดต้นทุนการผลิตให้เหลือไม่เกินไร่ละ 3,000 บาทจากปัจจุบันเฉลี่ยที่ไร่ละ 6,000 บาท -ประการที่สอง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว เฉลี่ยต่อไร่จาก 465 กิโลกรัมเป็น 600 กิโลกรัม
-ประการที่สาม เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี โดยมุ่งเน้นเป้าหมายที่จะได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะ สั้น เตี้ย ดก ดี โดย 12 พันธุ์ จะประกอบด้วยข้าวนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ และข้าวที่มีโภชนาการสูง 2 พันธุ์ และ
-ประการที่สี่ จะดำเนินการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์เพื่อนำไปสู่การแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้ต่อไป สำหรับปี 64 จะเป็นกรณีพิเศษจะมีการจัดประกวด 2 ครั้งคือในต้นปี และปลายปี
- ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว จะมุ่งเน้นการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมจากข้าว เพื่อสนองความต้องการของตลาด และประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นได้แต่ละชนิดทำจากข้าวชนิดใดบ้างและมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมมีผลิตภัณฑ์ชนิดใดอย่างไร และเน้นในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับผู้วิจัยและผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมจากข้าว การปรับปรุงกฎระเบียบ ลดขั้นตอน และการอนุมัติอนุญาตและแหล่งทุนเป็นต้น สุดท้ายจะดำเนินการในการช่วยหาช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับสินค้าแปรรูปและสินค้านวัตกรรมที่ทำจากข้าว
ระยะสั้นเงินจำเป็น-ระยะกลาง/ยาว ขาดแผนเพิ่มองค์ความรู้ที่จำเป็น?
–โครงการประกันรายได้เกษตรกร 1.1 ล้านครัวเรือน วงเงิน 51,858 ล้านบาท ทั้งนี้โครงการประกันรายได้ปี 2 กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ได้แก่
ข้าวที่ร่วมโครงการประกันรายได้ฯ จะต้องมีความชื้นไม่เกิน 15% โดยมีทั้งสิ้น 5 ชนิด ได้แก่
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
- ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน
- ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
ส่วนมาตรการคู่ขนานควบคู่กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 ได้แก่
(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.63-29 ก.พ.64) โดยนอกจากเกษตรกรจะได้รับสินเชื่อและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแล้ว เกษตรกรที่มียุ้งฉางจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีสหกรณ์จะได้รับตันละ 1,000 บาท และสมาชิกจะได้รับ ตันละ 500 บาท
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ต.ค.63-30 ก.ย.64) โดยสหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1% และ
(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.63-31 มี.ค.64 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2-6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ซึ่งจะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมากเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการชดเชยตามโครงการประกันรายได้
โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จะเริ่มเดือน พ.ย.63 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยในช่วงแรกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของรัฐบาล จะจ่ายเงินให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ในรอบแรกเบื้องต้น อัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ก่อน และในช่วงต่อไปจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอ ครม.เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป
พัฒนาข้าวต้องพัฒนาชาวนา-“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เน้นพึ่งตนเอง!
“ข้อมูลที่ทันสมัยแบบเรียลไทม์-เครื่องมือไฮเทคอาจช่วยแก้ปัญหาชาวนาไทย” ส่วนหนึ่งของบทความจากมูลนิธิชัยพัฒนา
“การส่งเสริมหรือสร้างเสริมสิ่งที่ชาวชนบทขาดแคลน และเป็นความต้องการอย่างสำคัญ คือ ความรู้ ด้านต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9)ทรงตระหนักว่า ชาวชนบทควรจะมีความรู้ในเรื่องของการทำมาหากิน การทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ในเรื่องการพึ่งตนเอง ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรในชนบทได้มีโอกาสได้รู้ได้เห็นถึงตัวอย่างของความสำเร็จนี้ และนำไปปฏิบัติได้เองซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ตัวอย่างของความสำเร็จทั้งหลายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่งประเทศ วิธีการให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในกรพัฒนาว่า
…การใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในงานต่างๆ นั้น ว่าโดยหลักการควรจะให้ผลมาก ในเรื่องประสิทธาพ การประหยัดและการทุ่มแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามก็คงยังจะต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นเป็นพื้นฐานและส่วนประกอบของงานที่ทำด้วย อย่างในประเทศของเราประชาชนทำมาหาเลี้ยงตัวด้วยการกสิกรรมและการลงแรงทำงานเป็นพื้น การใช้เทคโนโลยีอย่างใหญ่โตเต็มรูปหรือเต็มขนาดในงานอาชีพหลักของประเทศย่อมจะมีปัญหา เช่นอาจทำให้ต้องลงทุนมากมายสิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุ หรืออาจก่อให้เกิดการว่างงานอย่างรุนแรงขึ้น เป็นต้น ผลที่เกิดก็จะพลาดเป้าหมายไปห่างไกลและกลับกลายเป็นผลเสีย ดังนั้น จึงต้องมีความระมัดระวังมากในการใช้เทคโนโลยีที่ปฏิบติงานคือ ควรพยายามใช้ให้พอเหมาะพอดีแก่สถาวะของบ้านเมืองและการทำกินของราษฎรเพื่อให้เกิดประสิทธิผลด้วย เกิดความประหยัดอย่างแท้จริงด้วย..”