คลังยันไตรมาส 4 เศรษฐกิจฟื้นการบริโภคขยับ!?! ขณะสรท.ชี้ส่งออกอาหาร-เกษตรฉลุย 2 หมื่นล้านดอลลาร์

1565

กระทรวงการคลัง ชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 เชื่อไตรมาสที่ 3 ก้าวสู่ไตรมาสที่ 4 สัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคภายในประเทศขยับ พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขณะที่สรท.มองการส่งออกไตรมาส 4 แนวโน้มเป็นบวก เพราะการค้าโลกเริ่มทำธุรกิจมากขึ้น คาดส่งออก 3 เดือนสุดท้ายของปีส่งออกได้เฉลี่ย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าไทยจะขยายตัวได้ดีจะเป็นสินค้าประเภทอาหารและเกษตร 

คลังชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นเด่นชัด

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา Wealth Forum Chapter II NEXT IS NOW : จับกระแสกลยุทธ์ สู่ความมั่งคั่งวิถีใหม่ ว่า เชื่อว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้ผ่านพ้นไปแล้วในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และเห็นสัญญาณในหลายๆ ดัชนี ว่าไตรมาสที่ 3 ก้าวสู่ไตรมาสที่ 4 มีสัญญาณดีขึ้น เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายๆ ตัวกลับมาเป็นบวก ซึ่งภาครัฐจะต้องรักษาความสมดุลให้ดี ทั้งสาธารณสุขและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เชื่อมาตรการที่ออกมาจะสามารถกระตุ้นบริโภคได้ ทั้งการเติมเงินบัตรสวัสดิการ โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน และ ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีมาตรการออกมาอีกในระยะเวลาที่เหมาะสม

นายลวรณ กล่าวว่า สัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัด เช่น การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การเก็บภาษีเป็นบวก อย่างการขายรถเคยแย่ วันนี้เริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกันรายได้ภาคเกษตรก็ดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และที่สำคัญคือความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา

“ยอมรับความจริงว่าไม่ได้ดีในทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้แย่อย่างในไตรมาส 2 ที่เกิดขึ้น ขอย้ำว่าจุดต่ำสุดเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้ผ่านไปแล้วในไตรมาสที่ 2 และหลายสำนักเคยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบกว่า -8% ซึ่งล่าสุด ธปท. ก็ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจว่าจะติดลบเพียง -7.9% โดยล่าสุด กระทรวงการคลังเองก็จะประเมินว่าเศรษฐกิจจะติดลบ -7.7% ซึ่งดีกว่าตัวเลขที่เคยประกาศออกไปก่อนหน้านี้”

พร้อมกันนี้ มองว่าความท้าทายของภาครัฐขณะนี้ ต้องรักษาสมดุลให้ดี ทั้งสาธารณสุขและพริกฟื้นเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมั่นประชาชนให้กล้าใช้จ่าย ให้ลงทุน และบริโภค ขณะเดียวกัน เรื่องการท่องเที่ยวต่างประเทศก็เป็นความท้าทาย ถึงเวลาที่จะต้องคิดใหม่ทำใหม่ อาจจะไม่ได้ต้องการนักท่องเที่ยวจำนวนเท่าเดิม เป็นไปได้หรือไม่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา 20 ล้านคน แต่มีเม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาท เท่าที่ทำได้ ซึ่งเป็นโจทย์ในการพัฒนา เพื่อปรับโครงสร้างนักท่องเที่ยว ให้อยู่ในไทยนานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น เป็นโจทย์ที่ท่องเที่ยวต้องปรับตัว

รวมทั้ง การเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล ซึ่งช่วงโควิดทุกคนคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้าน เข้าสู่การเปลี่ยนสังคมดิจิทัล เป็นความท้าทายเชิงธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน ค้าขายออนไลน์เข้ามาแทนที่ ภาครัฐเองก็จำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เอื้อ ต้องปรับ เช่น กฎหมายดิจิทัล การเก็บภาษีดิจิทัล จะต้องเอื้อธุรกิจประเภทนี้ และการเกิดสังคมไร้เงินสด ซึ่งโควิดทำให้การเกิดสังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น ซึ่งภาครัฐก็เต็มที่ เช่น คนละครึ่ง ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นำไปสู่สังคมไร้เงินสด และสุดท้ายคือเรื่องของคน เรื่องการเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน จึงจะตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล และภาครัฐอย่างเดียวขับเคลื่อนไม่ได้ จะต้องใช้ความร่วมมือทุกภาคส่วน

สรท.มั่นใจส่งออกท้ายปียังฉลุย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสรท.(สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย)  กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ก.ย.ที่ติดลบเพียง 3.86% ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการค้าโลกเริ่มทำธุรกิจกันมากขึ้น ซึ่งไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของการส่งออกมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี  โดยในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้การส่งออกของไทยน่าจะส่งออกเฉลี่ย 1.9-2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้การส่งออกทั้งปีของไทยติดลบไม่เกิน 7 %

 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสองในกลุ่มประเทศยุโรป โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน (New Case) ในหลายประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ส่งผลให้มีการกลับมาประกาศใช้นโยบายล็อคดาวน์มาใช้ เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 1 เดือน เพื่อยับยั้งความรุนแรงของการระบาด เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า การนำเข้าที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการประกาศการนำเข้าสินค้าใหม่ของอินเดีย ซึ่งเป็นการจำกัดการนำเข้าและการห้ามนำเข้าสินค้าไทย ซึ่งการประกาศดังกล่าวไม่ได้มีหนังสือเวียนแจ้งล่วงหน้า ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทย เช่น ยางล้อรถยนต์ โทรทัศน์สี เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะฟื้นตัวโดยขณะนี้มียอดคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเพื่อรับช่วงเทศกาลปลายปี และอยู่ในระหว่างการส่งสินค้าตามที่กำหนด ซึ่ง 3 เดือนที่เหลือหากส่งออกเฉลี่ยเดือนละ1.9-2  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบ 7%

 “สรท.ประเมินการส่งออกในปี 2564 จะขยายตัว 5 % ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และการส่งออกของไทยเริ่มเป็นบวกมากขึ้นในหลายตลาด นอกจากสหรัฐและจีนที่มีการขยายตัวต่อเนื่องแม้จะมีปัญหาสงครามการค้าและโควิด-19 ซึ่งคาดว่าสินค้าที่ไทยจะขยายตัวได้ดีจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร เกษตร “

 ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะเพื่อผลักดันการส่งออก ได้แก่ การเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นประเทศคู่ค้า ในเรื่อง Thai Covid-19 Recovery การแก้ไขปัญหาต้นทุน โลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นของอัตราค่าระวางและค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) ปัญหาปริมาณระวาง/ปริมาณตู้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ การรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ 34 บาทต่อดอลลาร์