มอเตอร์โชว์ขายได้เกือบ 20,000 คัน แต่ค่ายรถไม่ปลื้ม!?! เหตุสต๊อกท่วมโรงงาน พบอีโคคาร์อ่วมสุด?!?

1961

อุตฯรถยนต์ยังไม่กระเตื้อง  แม้ยอดจองงานมอเตอร์โชว์ทะลุเกือบ 20,000 คัน แต่สต๊อกรถยนต์ของทุกค่ายยังท่วมโรงงาน บี้พนักงานลดกะทำงาน หยุดยาวลดกำลังผลิตกำลังคนแล้วแค่ทุเลา อีโคว์คาร์หนักสุดร่วง 34% ลิซซิ่งไม่ปล่อยสินเชื่อ ค่ายรถประเมิน ผลิตได้ 1.4 ล้านคัน แต่ขายได้ 7 แสนคันทั้งปี หวังการระบาดโควิด-19 คลี่คลาย ทำพลิกฟื้นได้ช่วงปลายปี 

งานมอเตอร์โชว์ 2020 บิ๊กอีเวนต์ในยุคนิวนอร์มอล ซึ่งเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 13-26 กค. 2563 ปิดฉากไปเรียบร้อยรวม 14 วัน สามารถกวาดยอดจองรถยนต์ 18,381 คัน และยอดจองรถจักรยานยนต์ 4,410 คัน ถือว่าสอบผ่านไปด้วยดีในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร เพราะสต็อกรถยนต์ในโรงงานของทุกค่ายยังท่วม ระบายไม่ทัน

โดยยอดจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์อันดับสูงสุด ได้แก่โตโยต้า 3,745 คัน 1.มาสด้า 2,365 คัน 2.ฮอนด้า 2,001 คัน 3. ซูซูกิ 1,583 คัน 4. อีซูซู 1,510 คัน 5.เอ็มจี 1,399 คัน

นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทยอยดีขึ้นแต่ยังอยู่ในลักษณะทรงตัว  ตลอดปี อุตฯยานยนต์มียอดผลิตและส่งออกคาดจะติดลบ 30-35% จะยืนตัวเลขนี้ได้ต้องไม่มีการระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่อีก  ทั้งนี้ยอดการผลิตครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ผลิตได้ 606,132 คัน ลดลง 43% ถ้าเทียบกับปี 2562 และคาดว่าประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ในปีนี้ 1-1.4 ล้านคัน แต่ยอดขายจะอยู่ที่ 7 แสนคันโดยรวม 

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว แม้รัฐบาล จะผ่อนคลาย สายการผลิตเริ่มดำเนินกานแล้ว และผู้ประกอบการรถยนต์จะพยายามแก้ปัญหาผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องก็ตาม ใช้วิธีลดกำลังผลิตเป็น 50% ลดเวลาทำงาน สมัครใจลาออก เป็นต้น  เช่น ฟอร์ด-มาสด้าใช้วิธี ทำ 10 วันหยุด 10 วัน, โตโยต้าลดเวลาทำงาน, นิสสัน-ฮอนด้าทำงาน 2 กะ ส่วนบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ มีทั้งปิดกิจการ  ปรับลดพนักงานให้สอดคล้องกับยอดสั่งซื้อ ทั้งหมดนี้ยังทรงตัว และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม

สำหรับอีโคคาร์ครึ่งปีแรกร่วง 34% เพราะไฟแนนซ์ไม่ปล่อยสินเชื่อสูง 20-35%  หากเปรียบเทียบกับปี 2563 สัดส่วนยอดขายรถยนต์นั่งลดลง 42% รถเพื่อการพาณิชย์ลดลง 34.2% เนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจ จากการระบาดไวรัสโควิด-19  ทำกำลังซื้อหดตัว แต่ยอดขายรถปิ๊กอัพยังแรง เพราะใช้งานได้ทั้งส่วนตัวและการพาณิชย์ อีโคคาร์ซึ่งแต่เดิมเป็นความหวังของค่ายรถฯ ที่จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะการตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในหมู่คนระดับเศรษฐกิจปานกลาง  เมื่อมาเผชิญปัญหาโรคระบาด   การตัดสินใจซื้อหดตัว ยืดการซื้อรถใหม่ออกไป ผู้ที่ต้องการซื้อ สินเชื่อไม่ผ่าน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ทำผิดหวังกันไปทั้ง ค่ายรถ และผู้บริโภค 

ค่ายยักษ์อย่างโตโยต้าหวังสิ้นปีดันอีโคคาร์ผลิต 6.6 แสนคันซึ่งต่ำกว่าต้นปีที่ประเมินไว้ 9.6 แสนคัน

……………………………………………………