กขค.ปิดดีลซีพีควบรวมโลตัสไทย?!? มูลค่า 3.38 แสนล้านบาท เคาะให้ผ่านฉลุยแบบมีเงื่อนไข ทำซัพพลายเออร์หนาว

22443

ในที่สุดคนเล็กๆต้องพ่ายแพ้ไปตามระเบียบ เมื่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมี ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา เป็นประธาน ได้ใช้เวลาพิจารณาวาระการรวมธุรกิจ ตามคำขอควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ที่ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย)มูลค่า 3.38 แสนล้านบาท นานร่วม 10 ชั่วโมง จบลงพร้อมปิดดีลให้ซีพี ควบรวมได้อย่างมีเงื่อนไข นับตั้งแต่นาทีนั้น ถือว่าเจ้าสัวธนินท์ กำชัยชนะในศึกชิงยักษ์ค้าปลีกสำเร็จ กลายเป็นเบอร์ 1 คุมค้าปลีกไทยเบ็ดเสร็จ ทำซัพพลายเออร์ไทยและโชว์ห่วยทั้งหลายระทึกขวัญเพราะอำนาจต่อรองยักษ์ค้าปลีกครอบคลุมมากกว่าเดิม

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้พิจารณาการรวมธุรกิจ ตามคำขอควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)ที่ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) ผลคืออนุญาตอย่างมีเงื่อนไข

เนื่องจากการซื้อหุ้นดังกล่าวจะทำให้บริษัทเครือ ซี.พี.ได้สิทธิในบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีก ภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย รวมทั้งซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย ดังนั้นทางบริษัทผู้ซื้อจึงต้องได้รับการอนุญาตจากทั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทย และ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs ของประเทศมาเลเซียด้วย บอร์ดแข่งขันของไทยจะพิจารณาอนุญาตควบรวมได้ก็จะได้เฉพาะส่วนของเทสโก้ในไทย ส่วนของมาเลเซียก็ขึ้นอยู่กับบอร์ดแข่งขันมาเลเซีย

“เบื้องต้นตามกฎหมายแข่งขันของมาเลเซียจะไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ฉะนั้น เท่ากับว่าดีลนี้ในมาเลเซียน่าจะควบรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพียงแค่แจ้งให้ทราบ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายแข่งขันในมาเลเซียจะเน้นเรื่องการดูแลพฤติกรรมการแข่งขันหลังจากควบรวมแล้ว มีอำนาจเหนือตลาด จะใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างเป็นธรรมหรือไม่”

ส่วนกฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทย เพราะมีผู้ประกอบการในตลาดหลายรายจึงไม่เข้าข่ายการผูกขาดทั้งในกลุ่มคอนวีเนี่ยนสโตร์ และกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งดีลนี้เข้าเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด การอนุญาตให้ควบรวมกิจการจำเป็นต้องมีการกำหนดเงื่อนไข เพื่อป้องกันใช้อำนาจเหนือตลาดสร้างการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น ซัพพลายเออร์และค้าปลีกรายอื่น

การแนวทางการดูแลซัพพลายเออร์ให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ต้องวางเงื่อนไขว่าบริษัทจะต้องซื้อสินค้าจากซัพพลายทุกรายอย่างเป็นธรรมอย่างไรเพื่อไม่ปิดกั้นรายอื่น  รวมถึงการวางมาตรการดูแลเรื่องการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกดังกล่าวหลังจากควบรวมแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะต้องแอปพลายเงื่อนไขจากแนวปฏิบัติธุรกิจทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (ไกด์ไลน์) ธุรกิจค้าปลีก หรือไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์มาใช้หรือไม่ และหากไม่ปฏิบัติตามนี้ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เป็นต้น

ซีพีทำสำเร็จเป็นเบอร์1 ครองโมเดิร์นเทรด

ปิดดีลไปแล้วสำหรับการประกาศซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผ่านบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เมื่อ 9 มีนาคม 2563 ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท พร้อมกับมีการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ 2 บริษัท ช่วงเดือนมีนาคม คือ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ดีลนี้สำเร็จเร็จแล้ว ซีพีจะได้สาขาของเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยมาครอบครองรวมประมาณ 1,967 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา พื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา แถมยังจะได้สาขาเทสโก้ โลตัสในประเทศมาเลเซียมาดูแลอีก 68 สาขา ในจำนวนนี้เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา และร้านขนาดเล็ก 9 สาขา

ซีพีมีช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาดได้ทุกเซ็กเมนต์

จากเดิมที่ ค่ายซีพี มีเซเว่นอีเลฟเว่น ในฐานะเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ ที่วันนี้มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเฉียดๆ 12,000 สาขา แถมมี “แม็คโคร” ที่ถือเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดค้าส่ง และมีสาขาอยู่มากกว่า 140 สาขา และในจำนวนนี้เป็นสาขาในกัมพูชา อินเดีย และจีน รวม 7 สาขา

การมีค้าปลีกทั้ง 3 แบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น-แม็คโคร-เทสโก้ โลตัส” อยู่ในมือ จะทำให้การซินเนอยี่ทางธุรกิจง่ายเพียงลัดนิ้วมือ โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้า ตลอดรวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจของกลุ่มซีพีเข้าไปมาเลเซียในสเต็ปต่อไป

อาณาจักรซีพีในวันนี้เป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ หมู ไก่ กุ้ง หอย ปู ปลา มีทั้งประเภทปรุงสุก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป การเปิดหน้าร้าน ทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหาร

การปิดดีลควบรวมเทสโก้ โลตัสในเวลานี้ จึงขยายฐานลูกค้าให้กับซีพีได้มหาศาล เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเทกโอเวอร์แม็คโคร ที่ทำให้กลุ่มซีพีได้ฐานลูกค้า ประกอบการค้าปลีกรายย่อย ร้านค้าโชห่วย เพิ่มขึ้นมาทันที

“ผมเป็นผู้สร้างโลตัสในเมืองไทย แต่ต้องจำใจขายกิจการในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เพื่อรักษาธุรกิจหลักคือธุรกิจเกษตรเอาไว้ แต่มั่นใจว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยใช้ปรมาจารย์ระดับโลกจาก Walmart มาช่วยบริหารตั้งแต่ยุคเริ่มต้นนั้น ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในรากฐานของธุรกิจ เปรียบเสมือนตึกสูงที่มีเสาเข็มที่แข็งแรง”

เจ้าสัวธนินท์ คาดหวังว่าการดีลซื้อครั้งนี้ “จะทำให้เทสโก้ โลตัสมียอดขายเพิ่มมากกว่าเก่าเป็นเท่าตัว โดยใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามา เปลี่ยนแปลงระบบให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น รายได้มากขึ้น

กขค.มีคำตอบเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบเหล่านี้อย่างไร ?

การอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์กับเทสโก้โลตัส เกิดการรวมศูนย์ในระบบอาหารของไทย ซึ่งรวมศูนย์มากอยู่แล้วจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เนื่องจากสัดส่วนของค้าปลีกสมัยใหม่ที่รวมระหว่างไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ แคชแอนด์แครี่อย่างแมคโคร และคอนวีเนี่ยนสโตร์อย่างเซเว่นอิเลฟเว่น รวมกันจะมีสัดส่วนมากเกินครึ่งของระบบ การมีอิทธิพลเหนือตลาดดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรมและอาหาร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ 

1)บริษัทที่มีส่วนแบ่งในระบบค้าปลีกสมัยใหม่จะมีอำนาจการต่อรองเพิ่มมากขึ้น ส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น ซัพพลายเออร์ต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียมการตลาด และอื่นๆเพิ่มขึ้น

2) ผู้ผลิตสินค้าที่เป็นคู่แข่งขัน หรือผู้ผลิตรายกลาย และรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันมีโอกาสสูงที่จะถูกกีดกันไม่ให้วางจำหน่ายในช่องทางตลาดที่รายใหญ่เป็นผู้ครอบครอง

3) ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่เครือตัวเอง หรือพันธมิตรของตนเป็นผู้ผลิตเพิ่มขึ้น สัดส่วนสินค้าของผู้ผลิต ผู้แปรรูปและผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆจะค่อยๆน้อยลง เป็นลำดับ

4) เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากจะไม่สามารถผลิตสินค้าได้โดยอิสระ ต้องถูกลากเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งบริษัทมีอำนาจการต่อรองสูง ส่วนแบ่งที่เกษตรกรจะได้รับจะยิ่งน้อยลง ทำให้ความหลากหลายของสินค้าและอาหารในระบบจะน้อยลง เนื่องจากมาจากกระบวนการผลิตเชิงเดี่ยวของผู้ประกอบการน้อยราย

5) แนวโน้มของสินค้าในโมเดิร์นเทรดซึ่งมีสัดส่วนของอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล สี สารปรุงแต่ง และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปและปรุงแต่งสูง อีกทั้งมีความหลากหลายน้อย จะเป็นต้นเหตุของปัญหาโภชนาการ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพิ่มระดับมากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

6) การผูกขาดห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ทำให้เกิดการรวมศูนย์ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกระจายอาหารของผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดียว จะส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างๆของรัฐ เช่น ความช่วยเหลือผู้ผลิต ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือโครงการช่วยเหลือผู้บริโภคต่างๆนั้น เม็ดเงินส่วนใหญ่ของรัฐจากภาษีของประชาชนจะถูกดึงดูดไปสู่กระเป๋าของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

7) ผลกระทบต่อความแข็งแรงของเศรษฐกิจฐานราก การอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอิทธิพลเหนือตลาดเพิ่มมากขึ้น จะเป็นแนวปฏิบัติที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองในระยะยาว