วิเคราะห์ผลกระทบต่ออาเซียน?!? หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

2412

ความเห็นของนักวิชาการและสมาชิกประชาคมอาเซียนมอง ‘นโยบายสหรัฐต่ออาเซียน’ หลังศึกชิงบัลลังก์ปธน.สหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ คงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนโยบายของพรรคเดโมแครตและ พรรครีพับลิกันคงจุดยืนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ต่อต้านอำนาจจีนเป็นหลัก ความสุ่มเสี่ยงสงครามเชิงพื้นที่ในทะเลจีนใต้ กินพื้นที่เชื่อมโยงหลายคู่ขัดแย้งที่พุ่งสู่จีนเป็นสำคัญ 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐดำเนินมาถึงโค้งสุดท้าย บรรดานักวิเคราะห์และนักวิชาการทั่วโลกต่างจับตามอง และลุ้นว่าระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และนโยบายต่างประเทศทั้งทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีต่อภูมิภาคต่างๆ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอย่างไร

วันที่ 3 พ.ย.2563 หย่อนบัตร กลางพ.ย.-14 ธ.ค.63 รับรองผลเลือกตั้ง 20 ม.ค.2564 สาบานตน

โค้งสุดท้าย-โจ ไบเดนหรือโดนัลด์ ทรัมป์จะคว้าชัย?

เปรียบเทียบนโยบายเศรษฐกิจ, การเมือง, ความสัมพันธ์ต่างประเทศ

  • ทรัมป์: อเมริกาต้องมาก่อน กีดกันการค้า,  ไบเดน: เชื่อในแนวทางการค้าเสรี 
  • ทรัมป์: ยืนนโยบายภาษีปี 2560 คือลดภาษีบุคคลและธุรกิจ, ไบเดน:ว่าจะเก็บภาษีเพิ่มบริษัทและเศรษฐี นำมาทำโครงการเพื่อสังคม
  • ทรัมป์: สร้างกำแพงเม็กซิโก ผลักดันบุตรหลานผู้อพยพจากสหรัฐ, ไบเดน:ส่งเสริมความยุติธรรมแก่คนผิวสี

สำหรับไทย ทรัมป์เป็นผู้ที่ฟื้นความสัมพันธ์กับไทยให้กลับมาสู่ระดับปกติอีกครั้ง นับตั้งแต่ถูกลดระดับไปจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯไทยคนแรกที่เยือนทำเนียบขาวในรอบกว่า 10 ปี

ใครมาเป็นประธานาธิบดีแค่เปลี่ยนลีลา

ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายที่มีต่อไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ว่า ในงานวิจัยของจุฬาฯที่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในระยะสั้น 1 -2 ปี นโยบายจะไม่เปลี่ยนไปมากจากปัจจุบัน เพราะนโยบายหลักของสหรัฐยังคงดำเนินไปเพื่อบั่นทอนและปิดล้อมการแผ่อิทธิพลของจีน

เมื่อนโยบายหลักเป็นการสกัดกั้นอำนาจจีน ย่อมส่งผลต่อไทยในฐานะผู้เล่นหลักในอาเซียน แม้ว่าตอนนี้จะเกิดสูญญากาศ อำนาจสหรัฐถดถอยลงในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่จีนยังคงแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการช่วงชิงพันธมิตร และไทยก็เป็นหมากสำคัญบนกระดานนี้

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียน เริ่มตั้งแต่สมัยบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เริ่มผลักดันยุทธศาสตร์ปรับแกนหมุนหันมาให้ความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสมดุลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศที่แทรกแซงในทุกด้านต่ออาเซียน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆในภูมิภาค

ผลสำเร็จที่สำคัญในนโยบายดังกล่าว เป็นเรื่องการกำหนดกรอบความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับประเทศในอาเซียน รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางการเมืองและการทหารกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเสนอข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (TPP) แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากทรัมป์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2560 โดยทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลง TPP และเสนอยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกแทน

หากเปรียบเทียบนโยบายต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกับข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก จะเห็นว่า ทั้งสองให้ความสำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในอาเซียน แม้ว่ายุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของทรัมป์ จะเน้นเรื่องการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมอิทธิพลของจีนมากกว่าการผลักดันความร่วมมือต่างๆกับประเทศในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จะเดินหน้านโยบายการทูตเพื่อควบคุมอิทธิพลของจีน  จะเห็นว่า ประเทศในอาเซียนจะยังคงต้องยึดแนวทางตามยุทธศาสตร์แห่งความสมดุล ท่ามกลางการแข่งขันของสองมหาอำนาจโลก

กวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า นโยบายสหรัฐที่มีต่ออาเซียนหลังการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งผู้ที่เป็นประธานาธิบดีก็จะยึดหลักตามแนวทางของพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนในยุคทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน กับสมัยโอบามาจากพรรคเดโมแครตมีความแตกต่างกันมาก

“ส่วนตัวเห็นว่า ความสนใจของทรัมป์ที่มีต่ออาเซียนน้อยมาก แต่ก็เป็นผลดี เพราะถ้ามองในแง่นโยบายก็ไม่ได้กดดันมากนัก แล้วนโยบายที่โอบามาวางไว้ในอาเซียน จะถูกทรัมป์รื้อทิ้งหมด โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์สหรัฐที่มีต่ออาเซียนไม่มีการเปลี่ยนแปลง และอยู่ในสถานะทรงตัวถือว่าโชคดี มีเพียงเรื่องเดียวที่ทรัมป์ไม่ได้ทำ นั่นคือการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำอาเซียน สะท้อนนัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนที่มีช่องว่าง ไม่แนบแน่นเท่าที่ควรจะเป็น”กวี กล่าว

นสพ.เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ในฮ่องกง อ้างผลสำรวจภาครัฐ ภาคเอกชนและสื่อในภูมิภาคนี้โดยสถาบันไอเอสอีเอเอส-ยูซอฟอิสฮัคในสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคมว่า ผู้ตอบร้อยละ 60 เชื่อว่าสหรัฐจะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ดีขึ้นหากการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้นายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตชนะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน 

ขณะที่นักสังเกตการณ์ทางการทูตมองว่า ความกังวลใหญ่ในปัจจุบันอย่างสงครามที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่เจตนาในทะเลจีนใต้และผลกระทบยืดเยื้อจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐจะไม่หมดไปในเร็ว ๆ นี้ เพราะการแข่งขันระหว่างสองชาติมหาอำนาจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่สมัยรัฐบาลทรัมป์ แต่เป็นลักษณะทางโครงสร้างของนโยบายต่างประเทศสหรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหรัฐไม่เคยมีนโยบายอาเซียนโดยเฉพาะ ความสัมพันธ์จึงไม่ต่อเนื่องและเปลี่ยนไปตามการแข่งขันกับจีน

นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์เคยตอบสภาแอตแลนติก หน่วยงานวิชาการของสหรัฐเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า หากทรัมป์หรือไบเดนโทรหาหลังชนะเลือกตั้งจะมีคำแนะนำอย่างไรว่า ประการแรกจะขอให้รัฐบาลใหม่สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพกับจีน เพื่อให้อาเซียนมั่นใจและคาดการณ์ได้ว่าจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด ประการที่สองหวังว่ารัฐบาลใหม่สหรัฐจะมีนโยบายเอเชียที่ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตเห็นตรงกัน เพื่อให้นโยบายต่อเนื่องไปยังรัฐบาลชุดต่อไป ประการสุดท้ายจะขอให้สหรัฐหาทางกลับเข้ามาร่วมในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทีพีพี (TPP) เพราะไม่เพียงเป็นการเดินหน้าผลประโยชน์สหรัฐในภูมิภาคนี้ แต่ยังจะช่วยขับเคลื่อนให้มีความร่วมมือและใช้ระเบียบที่ถูกต้องเพื่อสร้างความไว้วางใจ ยกระดับมาตรฐานการค้า และการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน