Truthforyou

เปิดปมขัดแย้ง?!? โลกมุสลิมกำลังระดมต่อต้านปธน.มาครง-คว่ำบาตรสินค้าฝรั่งเศส หลังหนุนละเมิดศรัทธาอิสลาม

การสังหารโหดในฝรั่งเศสเกิดขึ้นช็อคโลก บานปลายเป็นปมขัดแย้งประธานาธิบดีมาครง-กับโลกมุสลิม ปัญหาขัดแย้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กับความเชื่อทางศาสนา และการเยียบย่ำศรัทธาผู้อื่น ยิ่งส่งเสริมความเกลียดชังมากกว่าแก้ปัญหา ปธน.มาครงเลือกใช้ท่าทีก้าวร้าวรุนแรง กับปัญหาละเอียดอ่อนภายในประเทศ ได้บานปลายขยายความโกรธสู่โลกมุสลิมเต็มพิกัด ก่อชนวนความขัดแย้งระดับโลกที่ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร  อีกทั้งทำให้สังคมฝรั่งเศสต้องดำเนินชีวิตกันด้วยความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน ซ้ำเติมวิกฤตการระบาดโควิด-19 ระลอกสอง

ต้นเดือนตุลาคม ปธน.มาครงออกมายืนยันเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น กรณีครูชาวฝรั่งเศสถูกฆ่าตัดศีรษะหลังโชว์รูปศาสดามูฮัมหมัดในชั้นเรียน ต่อมาเกิดเหตุสังหารโหดที่โบสถ์นอร์ทดาม ในเมืองนีซ ของฝรั่งเศส ช่วงวันที่ 29 ต.ค. 2563  และมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทวีตข้อความแสดงความเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ ระบุว่า ‘ชาวมุสลิมมีสิทธิ์ที่จะโกรธ และฆ่าชาวฝรั่งเศสนับล้านคน ตอบโต้การสังหารหมู่ในอดีตที่ผ่านมา แต่มุสลิมไม่ใช้กฎ‘ตาต่อตา’ โดยส่วนมากแล้ว มุสลิมจึงไม่ทำ’  เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง ในที่สุดบานปลายสู่การคว่ำบาตรฝรั่งเศสโดยโลกมุสลิม

ที่มาปมขัดแย้ง ฝรั่งเศสกับโลกมุสลิม

ย้อนไปนับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงสังหาร 12 ศพในกรุงปารีส จากกรณีนิตยสาร “ชาร์ลี เอบโด” ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด เมื่อปี 2558 ก็ได้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในความเชื่อทางศาสนาที่มักจะสวนทางกัน ในขณะที่ฝรั่งเศสมีพลเมืองที่เป็นชาวมุสลิมในประเทศมากกว่า 7 ล้านคน 

ผ่านมา 5 ปี คุณครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ หยิบภาพการ์ตูนอื้อฉาวขึ้นมาประกอบการสอนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาถูกคนร้ายใช้มีดฆ่าตัดศีรษะ ทำให้หลายฝ่ายตระหนักว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มที่ยึดมั่นใน “เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น” กับกลุ่มที่เชื่อในหลัก “เสรีภาพความเชื่อทางศาสนา” และข้อถกเถียงอย่างยาวนานเกี่ยวกับแนวคิดฆราวาสนิยม (Secularism) ประเด็นอ่อนไหวที่พร้อมจะปะทุ นำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเมื่อ

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2563  ก่อนที่จะเกิดเหตุฆ่าตัดศีรษะครู และความรุนแรงรอบใหม่ปะทุขึ้น นายมาครง ประกาศแผนการร่างกฎหมายกวาดล้างกลุ่มชาวมุสลิมที่มีแนวคิดสุดโต่งในประเทศ ด้วยการส่งเสริมการศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา บอกว่าน่าจะเป็นรูปเป็นร่างในเดือนธันวาคมปีนี้ พร้อมประกาศสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นตามหลักเสรีภาพ

จากนั้นนายเรเยป ตอเย็บ เออร์โดอาน ของตุรกี ได้ออกมาตั้งคำถามว่า นายมาครงมีปัญหาอะไรมากไหมกับชาวมุสลิม และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพจิต ตามมาด้วยกระแสการแบนสินค้าฝรั่งเศสในหลายประเทศมุสลิม ก่อนที่จะเกิดเหตุฆ่า 3 ศพในโบสถ์เมืองนีซ

ชนวนมาครงทำสงครามกับก่อการร้าย-หาเสียงบนความเกลียดชัง?

หลังเกิดเหตุสังหารครูปาตี ประธานาธิบดีมาครงเดินหน้าปราบปรามแนวคิดอิสลามสุดโต่งทั่วประเทศ มีคำสั่งปิดสุเหร่าและสลาย “กลุ่มชีค ยาสซิน” ที่ฝั่งตะวันตกเชื่อว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ที่มีฐานในฉนวนกาซา มีการบุกตรวจค้นองค์กรอิสลามหลายแห่งที่แสดงท่าทีส่อไปทางสร้างความเกลียดชัง แตกแยกในประเทศ และหลังเกิดเหตุโจมตีโบสถ์เมืองนีซ ประธานาธิบดีมาครงกล่าวประณามเหตุการณ์นี้ และให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการใหม่ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย โดยบอกว่า รัฐบาลจะส่งกำลังทหารเข้าประจำการในสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน และโบสถ์ ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าท่าทีของมาครงยิ่งทำให้เกิดกระแส “เกลียดกลัวอิสลาม” (Islamophobia) ภายในประเทศ

อีก 18 เดือนฝรั่งเศสจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป และประธานาธิบดีมาครงก็หวังว่าจะได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกสมัย แต่ปีนี้มาครงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับผลงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง

เอชเอ เฮลเยอร์ นักวิชาการด้านศาสนาและกิจการระหว่างประเทศ สถาบันคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ มองว่า ท่าทีและการตอบโต้ต่อเหตุรุนแรงในประเทศช่วงนี้อาจทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมจากกลุ่มขวาสุดโต่งในประเทศ แต่ในระยะยาวแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา 

โลกมุสลิมปลุกคว่ำบาตรมาครง-สินค้าฝรั่งเศส

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวมุสลิมหลายประเทศทั่วโลกปลุกกระแสคว่ำบาตรสินค้าฝรั่งเศส หลังจากนายมาครงประกาศว่าจะปราบปรามกลุ่มมุสลิมในประเทศที่มีแนวคิดรุนแรง ตามมาด้วยเหตุคนร้ายฆ่าตัดคอนายซามูเอล ปาตี ครูชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 ต.ค. หลังจากนายปาตีนำภาพศาสดามูฮัมหมัดบนหน้านิตยสารชาร์ลี เอบโด มาประกอบการเรียนการสอนหัวข้อเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียทวิตเดือดแต่ถูกตัดทอนคำพูด เลยทัวร์ลง

หลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญคนร้ายบุกวิหารในเมืองนีซทางตอนใต้ของฝรั่งเศสคร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้าย 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นถูกมีดปาดคอ  มหาเธร์ได้ทวีตถึงเหตุการณ์ดังกล่าวโดยโยงไปถึงการตัดศีรษะครูชาวฝรั่งเศสที่นำภาพการ์ตูนของศาสดามูฮัมหมัดมาสอนนักเรียนว่า ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าผู้อื่น แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้รวมถึงการดูหมิ่นผู้อื่น“การไม่เคารพในศาสดาของผู้อื่นทำให้คนที่โกรธแค้นลุกขึ้นมาเข่นฆ่า” อดีตผู้นำวัย 95 ปีกล่าว

มหาเธร์ยังกล่าวอีกว่า “ตามประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสสังหารผู้คนนับล้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ดังนั้นชาวมุสลิมมีสิทธิ์ที่จะโกรธแค้นและสังหารชาวฝรั่งเศสหลายล้านคนเช่นเดียวกันสำหรับการสังหารในอดีต” และเสริมอีกว่า “แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ชาวมุสลิมไม่ได้ใช้หลักตาต่อตาฟันต่อฟัน ดังนั้นเมื่อชาวมุสลิมไม่ใช้หลักนี้ ฝรั่งเศสก็ไม่ควรใช้เช่นกัน” ข้อความนี้ไม่ถูกกล่าวถึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักว่าส่งเสริมความโหดร้ายรุนแรง  ทวิตเตอร์ลบข้อความทั้งหมด

มหาเธร์ซึ่งเคยเป็นนายกฯ มาเลเซีย 2 รอบ รวมเวลา 24 ปี กล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเขามีความอารยะ แต่เขาเป็นพวกที่ดึกดำบรรพ์มากกว่า

“คนฝรั่งเศสควรสอนคนของพวกเขาให้เคารพความรู้สึกของคนอื่น เพราะพวกคุณกล่าวโทษมุสลิมทั้งหมดและศาสนาของคนมุสลิมทั้งหมดสำหรับสิ่งที่ทำโดยคนที่โกรธเพียงคนเดียว คนมุสลิมจึงมีสิทธิ์ที่จะลงโทษคนฝรั่งเศส” มหาเธร์กล่าว “การบอยคอตไม่สามารถชดใช้ความผิดที่ฝรั่งเศสทำไว้ตลอดหลายปีมานี้”

ต่อมามหาเธร์ตอบโต้ผู้ที่มาวิจารณ์ตนว่า ไม่รู้บทบาทและอ่านโพสต์ที่ตนเขียนเกี่ยวกับการก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้ไม่จบ ทั้งยังวิจารณ์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ลบโพสต์ดังกล่าวของตนโดยไม่เปิดโอกาสให้ตนชี้แจงอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ “หน้าไหว้หลังหลอก”

“ด้านหนึ่ง พวกเขาก็พยายามปกป้องคนที่เลือกที่จะล้อเลียนศาสดานบีมูฮัมหมัด แล้วยัดเยียดเรื่องนี้ให้ชาวมุสลิมโดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก” นายมหาธีร์ กล่าว

มุสลิมในหลายประเทศกำลังประท้วงต่อต้านฝรั่งเศส

-ชาวบังกลาเทศราว 10,000 คนรวมตัวกันเพื่อประท้วงประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมถือป้ายว่า “มุสลิมทั่วโลกสามัคคิกัน” และ “คว่ำบาตรฝรั่งเศส” 
-โซมาเลียมีการออกมาชุมนุมประท้วงร้องเพลงคำขวัญต่อต้านฝรั่งเศส ถือป้ายประท้วง 
-อิสราเอลมีการติดป้ายต่อต้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่เมืองเยรูซาเลม 
-อินเดียมีผู้คนออกรวมตัวกันถือป้ายประท้วงในมุมไบสัญลักษณ์ด้วยการทำลายธงชาติฝรั่งเศส
-อิหร่านที่ประณามการดูหมิ่นศาสดาแห่งศาสนาอิสลามในฝรั่งเศสอย่างรุนแรง รวมถึงสำนักข่าวทางโทรทัศน์มีการเน้นย้ำกรณีที่ฝรั่งเศสใช้การ์ตูนล้อเลียนศาสนาอิสลาม  โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวว่า “การดูหมิ่นบุคคลอันเป็นที่เคารพของชาวมุสลิมรวมถึงความเชื่อของชาวมุสลิม 18,000 ล้านคนนั้นเป็นการกระทำของกลุ่มหัวรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้”
-การ์ตาร์ก็กำลังคว่ำบาตรฝรั่งเศสโดยร้านค้าในการ์ตาร์ไม่มีการวางขายสินค้าจากฝรั่งเศส และมีการทวีตต่อต้านมาครงในทำนองเดียวกับตุรกี

ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสมีการประกาศยกระดับการเตือนภัยขั้นสูงสุด รวมถึงเสริมกำลังทหารจาก 3,000 นายเป็น 7,000 นายเพื่อคุ้มกันสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ศาสนสถานและโรงเรียน

รวมถึงประธานาธีดีเอ็มมานูเอล มาครง ยังให้สัญญาว่าจะปราบปรามกลุ่มคนหัวรุนแรงรวมถึงปิดมัสยิดและสถานที่อื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดความรุนแรง มาครงกล่าวว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ถูกทำร้ายโดยประชาชนฝรั่งเศสถูกสังหารขณะเดียวกันสถานกงสุลฝรั่งเศสในประเทศซาอุดิอาระเบียก็กำลังถูกโจมตี โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างฝรั่งเศสและโลกมุสลิม

Exit mobile version