อดีตรองอธิการฯ มธ. เสนอทางออกประเทศ 7 ข้อ ถอยคนละก้าว พ้นวิกฤตประเทศ

2976

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ถึงกรณีทางออกของประเทศไทย โดยเสนอ 7 ข้อ ให้ถอยคนละก้าว โดยให้หยุดจาบจ้วงสถาบันเพื่อสร้างความแตกแยก โดยระบุข้อความว่า

ข้อเรียกร้องแบบหัวชนฝาที่ประสานเสียงกันระหว่างม็อบและพรรคฝ่ายค้านคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกเท่านั้น เมื่อลาออกแล้วให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ยอมให้สมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี แม้แต่คนเดียว จากนั้นให้ดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ
มาตรา 256 เพื่อให้ตั้ง สสร ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้แก้ได้ทุกมาตรา ไม่ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2
หากพลเอกประยุทธ์ไม่ลาออก จะไม่ยอมเจรจาใดๆ และไม่ยอมเข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ตามข้อเสนอของรัฐบาล ลองพิจารณากันดูว่า หากพลเอก ประยุทธ์ลาออกแล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมาก่อนอื่น ต้องทราบก่อนว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคต่างๆให้เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง นอกจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว คนอื่นๆที่ได้รับการเสนอชื่อที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองมีดังนี้
คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ และคุณชัยเกษม นิติศิริ เสนอชื่อโดย พรรคเพื่อไทย
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ
พลตำรวจเอก เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรค เสรีรวมไทย
ควรทราบด้วยว่า พรรคการเมืองต้องประกาศชื่อผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค ไม่เกินกว่าพรรคละ 3 รายชื่อก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคใด ถือว่าเขาได้ทราบแล้วว่าพรรคนั้นจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยเหตุนี้ ที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส.จึงไม่แตกต่างกับที่มาของส.ส.บัญชีรายชื่อแต่อย่างใดเลย เพียงแต่ไม่มีสถานภาพเป็นส.ส.เท่านั้น
หากพลเอก ประยุทธ์ ลาออก คณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็จะพ้นจากตำแหน่ง แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อนายกรัฐมนตรีลาออก และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามรายชื่อที่แต่ละพรรคมีอยู่ โดยต้องได้คะแนนเสียงตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภารวมกัน
หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่พรรคการเมืองต่างๆเสนอได้ ให้ปิดประชุมและให้สมาชิกทั้ง 2 สภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อกันเพื่อเสนอให้ยกเว้นไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่มีอยู่ จากนั้นให้นัดประชุมใหม่ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อใหม่ ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
จะเห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีลาออก และมีการเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ และสมมติว่าวุฒิสมาชิกยินยอมไม่ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี จำนวนคะแนนเสียงที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะต้องได้ ยังคงต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภารวมกันอยู่ดี เนื่องจากมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลยังมีผลบังคับใช้อยู่
ขณะนี้มีส.ส.ทั้งสภาเหลืออยู่ 486 คน มีสวเหลืออยู่ 245 คน 2 สภารวมกันคือ 731 คน มากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 366 คน ซึ่งหมายความว่า พรรคที่สามารถรวบรวมเสียงส.ส.พรรคต่างๆให้ได้ตั้งแต่ 366 คนขึ้นไป จากจำนวนส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมด 486 คน จึงจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้และได้เป็นรัฐบาล
พรรคฝ่ายค้านขณะนี้มีส.ส. 212 คน หักส.ส.พรรคก้าวไกลที่เพิ่งพ้นสภาพไป 1 คน ก็จะเหลือ 211 คน แปลว่าจะต้องหาคะแนนเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลมาอีก 155 เสียง จึงจะเพียงพอ ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลได้
ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาล ไม่รวมพรรคพลังประชารัฐ มีจำนวนส.ส.อยู่ 155 คนพอดี หมายควมว่าฝ่ายค้านจะต้องได้เสียง ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ มาทั้งหมด จึงจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ไม่ใช่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้น้อยเต็มทีที่จะเกิดการสลับขั้วจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม มาเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาลแทน ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ ที่สมาชิกวุฒิสภา 245 คนจะยอมงดออกเสียงทั้งหมด
เช่นนี้แล้วจะให้พลเอก ประยุทธ์ ลาออกไปทำไม หรือเพียงเพื่อความสะใจเท่านั้น หรือมีวาระซ่อนเร้นอะไร
ว่าที่จริงแล้ว หากทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม มีความต้องการที่จะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น และเห็นแก่ส่วนรวม โดยไม่ได้ต้องการชิงอำนาจจากฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใดจริง ทางออกที่จะทำให้ประเทศชาติโดยรวมไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ได้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าจะไม่มี เราลองมาพิจารณาทางออกดังต่อไปนี้
1. ให้ฝ่ายผู้ชุมนุม หยุดการล่วงละเมิดและหยุดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหยุดความขัดแย้ง และความแตกแยกที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆไว้
2. รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำการชุมนุมที่ถูกจับกุมทั้งหมด ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายด้วย
3. ตั้งโต๊ะเจรจา โดยให้ทุกฝ่ายส่งตัวแทนเข้ามา โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสมานฉันท์ให้เสียเวลา และยังไม่ต้องให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก
4. หากจะให้พลเอกประยุทธ์ลาออก ต้องตกลงกันว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องไม่มาจากพรรคการเมือง ใดๆ นั่นคือไม่มาจากรายชื่อเดิม ซึ่งสังกัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
5. วิธีการคือ เสนอชื่อพลเอก ประยุทธ์เช่นเดิม หรือจะเสนอผู้อื่นในรายชื่อที่ไก่รับการเสนอก็ได้ แต่ร่วมมือกันลงคะแนนให้ได้น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.และส.ว. รวมกัน จากนั้นปิดประชุม และเข้าชื่อกันเพื่อขอยกเว้นไม่เอารายชื่อเดิม
6. ร่วมกันคัดเลือก จากคนที่ไม่ใช่นักการเมือง เลือกคนที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ และการบริหาร และเข้าใจธุรกิจ ที่เป็นที่ยอมรับในความสามารถ เสนอชื่อเข้าสภา และทั้ง 2 สภาร่วมกันลงคะแนนให้ได้คะแนนมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกของทั้ง 2 สภารวมกัน เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
7. ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เลือกคณะรัฐมนตรีได้อย่างอิสระ โดยเลือกคนที่มีความสามารถเหมาะสม ที่จะเป็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง จะมาจากส.ส.หรือไม่ก็ได้ ภาระกิจคือ ดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และดำเนินการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งพรบ ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายในปีครึ่ง จากนั้นจึงยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
นี่คือการถอยคนละก้าวอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการถอยเพื่อประเทศชาติ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ยอมตกลงกันตามแนวทางข้างต้น แสดงว่าฝ่ายนั้น ไม่มีความจริงใจที่จะทำเพื่อส่วนรวม เพื่อให้ประเทศชาติดีขึ้น สังคมดีขึ้น แต่เพียงต้องการอำนาจให้มาอยู่กับฝ่ายตน หรือรักษาอำนาจไว้กับฝ่ายตนเท่านั้น