โซเชียลมีเดียที่มีพลังอย่างมาก ในการเผยแพร่แนวความคิดเห็น และโน้มน้าวสาธารณชน พร้อมการยอมรับคือ “เฟซบุ๊ก” สำหรับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และเฟซบุ๊กนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเมืองสหรัฐฯเข้มข้นขึ้น เพราะเวลาตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน ปลายปีนี้ใกล้เข้ามา เมื่อทิศทางการเมืองโน้มเอียงไปทางโจ ไบเดนแห่งเดโมแครต มาร์คฯจึงมีท่าทีต่อปธน.ทรัมป์เปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะอนาคตของเฟซบุ๊กจะรุ่งหรือร่วง ย่อมเกี่ยวพันกับผู้นำสหรัฐฯที่จะมาคุมกฎเกณฑ์ แต่ความไม่แน่นอนนั้นเป็นเรื่องจริง นับถอยหลัง 100 วันทั้งโลกจะได้คำตอบ
เข้าใจบทบาทเฟซบุ๊ก-อ่านความคิดมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก เป็นผู้มีอำนาจเต็มที่แท้จริง เขาเริ่มวิตกเกี่ยวกับการสูญเสียความไว้วางใจจากผู้บริโภค เพราะอาจถูกมองว่าสนับสนุนทรัมป์ฯซึ่งภาพพจน์ตกต่ำในสายตาสาธารณชน
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภาพโจ ไบเด็นและมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก พบกันเป็นการส่วนตัว บ่งบอกสถานการณ์ทางการเมืองสหรัฐอเมริกาได้ไม่น้อย ขณะที่ ปธน.ทรัมป์กำลังสาสะวนรับมือการระบาดไวรัสสายพันธ์ใหม่ โควิด-19 และกำลังขับเคี่ยวกับไบเด็นในสนามเลือกตั้ง คล้ายการเลือกตั้งปี 2016 ซึ่งครั้งนั้นมาร์คฯเลือกฮิลลารี คลินตัน
ย้อนดูแนวความคิดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผ่านคำประกาศ 5,500 คำ ซึ่งจัดพิมพ์เมื่อ กุมภาพันธ์ 2017 ว่า “จงสร้างชุมชนระดับโลก” -ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวของการที่เราเรียนรู้ ที่จะมาร่วมมือกันในเรื่องๆหนึ่ง ด้วยจำนวนมหาศาล จากป่าสู่เมือง สู่ความเป็นชาติ ที่ละขั้น เราเริ่มจากสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา ก่อร่างเป็นชุมขน ประดิษฐ์เครื่องมือสื่อสาร และสร้างรัฐบาล เพื่อสร้างพลังอำนาจให้เราไปบรรลุถึงสิ่งที่เราไม่อาจทำได้ด้วยตัวเราเอง”
“ณ บัดนี้เราใกล้จะถึงเวลายกระดับอีกขั้นหนึ่ง โอกาสอันยิ่งใหญ่อยู่ที่โลกใบนี้ เสมือนการเผยแผ่ความเท่าเทียม เสรีภาพ การส่งเสริมสันติภาพ และความเข้าใจ นำพาผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจน และพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ โอกาสอันยิ่งใหญ่ของเรา ต้องการการตอบสนองจากโลก ดังเช่นการปราศจากวิถีก่อการร้าย การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และแก้ไขปัญหาโรคระบาดใหญ่ทั้่วโลก ความก้าวหน้าเรียกร้องให้มนุษยชาติต้องหันกลับมาร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่ระดับเมืองหรือระดับประเทศ แต่ทั้งโลก, ชุมชนแห่งโลก”
สก็อต กัลโลเวย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เคยให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศไว้ว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กนั้น น่ากลัวกว่าฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคิวบา ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับสหรัฐอเมริกา เสียอีก ผู้ใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม (โซเชียลมีเดียที่เฟซบุ๊กเข้าไปซื้อกิจการ) เสพติดการใช้งานบนแพลตฟอร์มทั้ง 2 ชนิดจนยากเกินกว่าจะถอนตัว
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ซึ่งเป็นคนควบคุมข้อมูลที่หลั่งไหลอยู่บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ด้วยจำนวนผู้ใช้งานปัจจุบันมากกว่า 2,100 ล้านคนทั่วโลก จึงถือเป็นบุคคลที่น่ากลัวและอันตรายที่สุด เนื่องจากเป็นผู้กุมพื้นที่สนามแห่งโลกดิจิทัลที่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกไว้ในมือแล้วนั่นเอง
สัญญาณลบจากผู้ใช้งานและพนักงานของเฟซบุ๊กเอง
ปี 2018 เฟซบุ๊กยอมจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาล 155,000 ล้านบาท หลังทำข้อมูลลูกค้าหลุดไปให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองอย่าง Cambridge Analytica อันทำให้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกกลไกพิเศษบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไป ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งก่อน แต่กลับไม่โดนดำเนินคดีหรือกล่าวโทษ สหรัฐฯกลับชี้เป้าไปที่รัสเซียว่าร่วมมือกับปธน.ทรัมป์ บิดเบือนการเลือกตั้ง
ปี 2020 เป็นปีที่เฟซบุ๊ก และมาร์คฯ เผชิญกระแสต่อต้านหนักที่สุดที่เคยมีมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองและพนักงานของเฟซบุ๊กเองตำหนิว่าสร้างแบบอย่างที่ “ไม่อาจเข้าใจได้” ด้วยการหาเหตุผลแก้ตัวให้การโพสต์ทางโซเชียลมีเดียของปธน.ทรัมป์ ที่ยุยงการใช้ความรุนแรง ซึ่งเฟซบุ๊กไม่แตะต้องทั้งที่ข้อความเดียวกันโดนทวิตเตอร์แจ้งเตือน
ในช่วงแรกเขาเงียบ จนกระทั่งกลุ่มบริษัทคอนซูมเมอร์ยักษ์ในสหรัฐฯ รวมตัวกันบอยคอตไม่ซื้อโฆษณาของเฟซบุ๊ก ทำให้เขาสูญเงินมหาศาล ท่าทีเขาจึงเปลี่ยนไป มาร์คฯยอมถอย คุมเข้มโพสต์ไม่เหมาะสมบนเฟซบุ๊ก การรณรงค์ครั้งนี้ใช้ชื่อ “Stop Hate for Profit” ทำให้ ยูนิลิเวอร์ เวอร์ริซอน เบนแอนด์เจอร์รีย์ และยีนส์ลีวาย ถอนโฆษณาเป็นกลุ่มแรก และตามมาด้วย โคคาโคล่าที่ระงับแค่เดือนกรกฎาคม ทำหุ้นเฟซบุ๊กตก 8 จุดสินทรัพย์หายไปถึง 7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2 แสนล้านบาท ทำมาร์คฯหล่นลงมาอยู่ที่อันดับ 4 ของเศรษฐีโลก
ลมเปลี่ยนทิศนำพาเฟซบุ๊กเปลี่ยนท่าที
รายงานผลการสำรวจ พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ (Pew Research Center ) ในเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา กล่าวว่า “เวลานี้มีชาวอเมริกันเพิ่มมากขึ้นที่มองเห็นว่า สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจผู้นำหน้ากว่าใครเพื่อนของโลก ซึ่งถือว่าสูงกว่าการสำรวจครั้งใดๆ ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา” และ “เชื่อกันอย่างมากมายท่วมท้นเช่นกัน ว่าประเทศของพวกเขาเป็นผู้นำในด้านการทหารของโลก และเชื่ออีกว่าโลกนี้ดีขึ้นด้วยการมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้จีนเป็นผู้นำ”
ทั้งไบเดน และทรัมป์ ต่างขี่กระแสคนอเมริกันไม่ชอบจีน และปัจจุบันก็เร่งกระแสเกลียดจีนให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ด้วยท่าทีดิบเถื่อนทางการทูต สั่งปิดกงสุลจีนโดยไม่บอกล่วงหน้า ไล่ไปให้พ้นภายใน 72 ชั่วโมง โดยไม่สนใจใครจะวิจารณ์ว่าผิดมารยาท ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และในทางยุทธศาสตร์ก็แสดงท่าทีกันอย่างพร้อมเพรียง ปลุกแนวความคิด “เสรีนิยม” และ “คอมมิวนิสต์” กระหน่ำทั้งภายในประเทศสหรัฐฯและ ประเทศพันธมิตรในยุโรป
ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาไม่นาน The economist เผยแพร่บทวิเคราะห์ฟันธงว่าไบเดนชนะทรัมป์แน่โดยเน้นไปที่คะแนน Electoral College ที่เป็นตัวตัดสินว่าใครชนะใครแพ้ ไม่ใช่คะแนนรวมหรือ Popular Votes เท่านั้น แนววิเคราะห์ของนิตยสารอังกฤษฉบับนี้บอกว่า ไบเดนจะได้คะแนนระหว่าง 246-415 ขณะที่ทรัมป์จะได้ 123-292 เส้นตัดสินใครแพ้ใครชนะอยู่ที่ 270
แน่นอนท่าทีของมาร์คฯ ย่อมไม่เหมือนเดิม การออกกฎควบคุมคำยั่วยุทางการเมืองของเฟซบุ๊ก และท่าทีคัดค้านคำสั่งปธน.ทรัมป์ให้ควบคุมโซเชียลมีเดีย เป็นการส่งสัญญาณให้ทีมรีพับลีกันรู้ว่า พันธมิตรไม่เหมือนเดิมแล้ว ส่วนทีมของปธน.ทรัมป์จะแก้เกมอย่างไร จะใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียตัวไหน คงไม่นานเกินรอจะได้เห็น
ความกังวลใจของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยังคงอยู่ที่ว่า ไบเดนจะเลือกใครเป็นรองประธานาธิบดี คนที่เข้าใจโซเชียลมีเดีย หรือคนที่เป็นปฏิปักษ์กับวิถีอย่างที่เขาเป็น เพราะนี่จะเป็นปัจจัยชึ้ขาดว่า หากเดโมแครตคว้าชัย การทำธุรกิจของเฟซบุ๊ก และอื่นๆในเครือของเขาจะสะดวกราบรื่นหรือดิ่งเหว
สำหรับสังคมไทยคงต้องรอชม ฉากใหญ่ทั้งสงครามความคิดอุดมการณ์ และสงครามเศรษฐกิจในทุกมิติ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวเดินเรื่อง แต่จะเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายอยู่ที่ผลที่จะตามมาว่าใครได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชาติทั่วโลก และประชาชนไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร?
……………………………………………………….
https://www.theguardian.com/technology/2020/jul/26/bidens-path-to-the-white-house-could-hit-a-dead-end-on-facebook?CMP=oth_b-aplnews_d-1