นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พอใจการแก้ปัญหาความยากจนได้ โดย ปี 2562 คนจนลดเหลือ 4.3 ล้านคน จาก 6.7 ล้านคน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พอใจภาพรวมผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลังสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน สถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจน จำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น
ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81
ซึ่งการที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ตกกับคนยากจนมากขึ้น
นอกจากนี้สัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ร้อยละ 6.24 ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 6.5 ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ในปี 2564 อีกด้วย สะท้อนถึงการประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน และการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจน ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโรค Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน
จากการรายงานของสภาพัฒน์ฯ พบว่า สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (ร้อยละ 0.24) รองลงมาคือ ปทุมธานี (ร้อยละ 0.24) ภูเก็ต (ร้อยละ 0.40) สมุทรปราการ (ร้อยละ 0.56) และ กทม. (ร้อยละ 0.59)
นายกรัฐมนตรี ย้ำจะต้องแก้ไขปัญหาความยากจนต่อไป เพราะสาเหตุของความยากจนนั้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ปัญหาภาคเกษตรกรรม การอาศัยอยู่ในครัวเรือนใหญ่ที่ทำให้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ ซึ่งอาจไม่ได้รับการดูแลภายใต้กฎหมายการคุ้มครองแรงงาน
ทำให้โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการมีอย่างจำกัด โดยมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยให้คนยากจนมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่คนจนยังคงเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐได้น้อย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจนไม่สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น