การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยอย่างใหญ่หลวง ธนาคารออมสินเป็นธนาคารของรัฐที่ใกล้ชิดประชาชนไทยมากที่สุด ได้ประกาศพักชำระหนี้ หยุดดอกเบี้ย 3 เดือนทั้งส่วนบุคคล และบริษัทเอกชนที่เป็นลูกค้าของธนาคาร คิดดอกเบี้ย 8-10% ต่ำกว่าธนาคารเอกชนหรือ ธุรกิจลีซซิ่ง มูลค่าหนี้รวม 1.14 ล้านล้านบาท จัดโปรลูกค้าใหม่ คิดดอกเบี้ย 8-10% ทำวงการนอนแบงก์สะเทือน
ศูนย์วิจัยธนาคารทหารไทยและธนาคารกสิกรไทย ประเมินหนี้เสีย (NPL) สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตปี 63 พุ่ง 15-20% ผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบมากขึ้น
มีรายละเอียดคือ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปี 2563 ของสินเชื่อส่วนบุคคล อยู่ที่ 2.51 % ของสินเชื่อรวม หรือมีเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 36,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 % หากเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ แนวโน้มเอ็นพีแอลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักมาจาก ภาะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องระมัดระวังด้านคุณภาพหนี้มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต คาดว่าเอ็นพีแอลมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน มาอยู่ที่ระดับ 2.68 % ในปี2563 ด้านมูลค่าเอ็นพีแอลคาดอยู่ที่ 8,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 % จากปี 2562
สะท้อนภาพหนี้สินของประชาชน ว่าภายใต้การระบาดไวรัสโควิด-19 ประชาชนมีความต้องการใช้เงินมากขึ้น เพราะรายได้ลดลง ทำให้สภาพคล่องติดขัด และต้องการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ทางภาครัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดนโยบายรับมือกับปัญหาหนี้ท่วมในสังคมไทยโดยใช้มาตรการทางการเงิน ลดภาวะหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื้อได้ง่ายขึ้น
เรื่องนี้ ธนาคารออมสินเปิดเกมรุกก่อน โดยนายวิทัย รัตนากร,ผู้อำนวยการธ.ออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารจะขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ไปอีก 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.63) จากเดิมจะสิ้นสุดการพักชำระหนี้วันที่ 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจบางรายอาจยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ปัจจุบันมีลูกค้าออมสินเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 3.10 ล้านราย มูลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท
การพักชำระหนี้ครั้งนี้ ลูกค้าเลือกได้ว่าจะรับการพักชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินต้นหรือไม่ หรือจะพักเฉพาะเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ย หรือจ่ายดอกเบี้ยแต่จ่ายเงินต้นครึ่งหนึ่งก็ได้ โดยธนาคารจะช่วยคำนวณให้ว่าจะกระทบต่อการชำระหนี้ในอนาคตอย่างไร
นอกจากนี้ ธนาคารจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนฐานราก ซึ่งเป็นลูกค้าของออมสินสัดส่วนกว่า 60% ของฐานลูกค้าทั้งหมด และกว่า 47% ของลูกค้าออมสินมีหนี้สินที่เกิดจากการกู้หนี้นอนแบงก์อยู่ 25.3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 481,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคล-บัตรกดเงินสด 48% บัตรเครดิต 31% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 21%
“6 เดือนต่อจากนี้ออมสินจะเข้าไปปรับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยในตลาดใหม่ เพื่อทำให้ดอกเบี้ยหนี้นอกระบบและนอนแบงก์ ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูง 24-28% ต่อปี ลดลงเหลือเพียง 8-10% เท่านั้น โดยการเข้าไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เพื่อแข่งกับหนี้นอกระบบและรีไฟแนนซ์ให้ลูกค้านอนแบงก์ 30,000-40,000 ราย”
สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 150,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และสถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ลูกค้าต่อในอัตรา 2% มีการอนุมัติแล้ว 136,800 ล้านบาท จำนวน 14,800 ราย ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยววงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินรัฐ ไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายนั้น หากกระทรวงการคลังพิจารณาเสร็จ จะนำเสนอ ครม.ต่อไป
เรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่าเมื่อธนาคารออมสินลงมาเล่นเต็มตัวกับธุรกิจนอนแบงก์ อาจส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ทำธุรกิจลิซซิ่ง ปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อจำนำรถทำให้กำไรลดลง ในส่วนเจ้าตัวเช่น MTC, SAWAD, KTC ให้ความเห็นว่า อาจกระทบรายใหม่ แต่รายเก่าไม่ค่อยกระทบ เพราะธนาคารออมสินมีต้นทุนต่ำกว่าก็สามารถออกสินค้าที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าได้