“เศรษฐกิจไทยฟื้นชัวร์?!!? กูรูชี้พี่งตนเอง ยกเครื่องทั้งระบบ ลดพึ่งพาต่างประเทศ ไม่ต้องรอโควิดคลี่คลาย

2557

ธนาคารแห่งประเทศไทยและศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์มองเศรษฐกิจไทยจะค่อยฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังโควิด-19คลี่คลาย และไทยต้องยกเครื่องใหม่สู่อนาคตทั้งแนวความคิดที่พึ่งพาต่างประเทศ และการดูแลระบบการเงินการคลัง ให้สอดคล้องกับภาคการผลิตและแรงงานที่ยังขาดการเตรียมพร้อม รับคลื่นลูกใหม่ของการเปลี่ยนแปลง ปิดจุดอ่อนลดการพึ่งพาต่างประเทศ เสริมจุดแข็งพึ่งตนเอง จึงจะฟื้นตัวได้อย่างแท้จริง

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบเครื่องหมายถูก เมื่องต่ำถึงขีดสุดจะเด้งกลับ เหมือนสภาพก่อนเกิดสู่ก่อนโควิด-19 ในปลายปี 64  และยืนยันว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ IMF เพราะภาคเศรษฐกิจมหภาคยังแกร่งมีกันชน แม้โดนแรงกระแทก ส่วนภาคการเงินยังดีดูแลลูกค้าได้ เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ตรงจุด-เฉพาะกลุ่ม ไม่เหวี่ยงแหทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการฯเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีภาวะที่ลงลึกกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีการพึ่งพาต่างประเทศมาโดยตลอด 

-ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหลังมีการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก เพราะความต้องการท่องเที่ยวจากต่างประเทศน้อยลง ดังนั้น การจะให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาอยู่ที่ระดับ 40 ล้านคน อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีเพราะประเทศที่เคยเป็นลูกค้า มาเที่ยวประเทศไทยยังเผชิญกับภัยไวรัสระบาดที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

-ภาคการส่งออกมีบทบาทสำคัญระบบเศรษฐกิจไทย เพราะความต้องการสินค้าและบริการขึ้นอยู่กับประเทศคู่ค้า ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสกันไปทั้งโลก  ทำให้อำนาจการซื้อลดลง เช่นเดียวกับการผลิตที่วงจรการผลิต ห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำก็ถูกกระทบหนัก ทำให้การฟื้นตัวจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ในขณะที่ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน มองภาคการท่องเที่ยวไทย จะฟื้นเร็วแค่ไหน มีปัจจัยที่สำคัญก็คือ เรื่องของวัคซีน ถ้ามีวัคซีนจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แต่ถ้าวัคซีนมาช้า การฟื้นตัวจะยืดออกไป EIC มองว่าอยู่ประมาณไตรมาส 2-3 ปีหน้า ถ้าไม่มีวัคซีนอาจจะกินเวลาไปถึงปี 2022 ดังนั้นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กว่าจะกลับเข้ามาเท่ากับปี 2019 อาจต้องใช้เวลาอีก ถึง 2 ปี  นอกจากนี้ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการใช้จ่ายภาคเอกชน

ถึงแม้การ Lock Down จะผ่อนคลายแล้ว แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่าย ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ  เพราะว่าปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดเรื่องการใช้จ่าย เรื่องการจ้างงาน ค่อนชะลอตัว มีคนตกงานจำนวนมากถึงประมาณ 8 ล้านคน 

เมื่อคนยังไม่มั่นใจ ก็น่าจะยังชะลอการใช้จ่าย อาจจะมีการออมเพิ่มขึ้น เผื่อไว้เพราะมีความไม่แน่นอน ตัวสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องตลาดทุน หุ้นตกไปทำให้มูลค่าของ Set หายไปประมาณ 2.6 ล้านๆ บาท ถ้าหักส่วนของนักลงทุนต่างประเทศไป ก็ทำให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนหายไป 2 ล้านล้าน  

จะมองว่าเราควรจะก้าวไปทางไหนคงต้องหันมาพิจารณาจุดแข็งจุดอ่อนของเราว่าเป็นอย่างไร

จุดแข็งของประเทศไทย

1) ระบบการแพทย์เราดีที่สุดในโลก พิสูจน์ทราบจากผลการรับมือโควิด-19 ระบาด

2) โครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี ที่เอื้อต่อเรื่องกิจกรรมออนไลน์ ต่างๆ เรามีความพร้อมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาก ตลอดจนอุปนิสัยเปิดรับสิ่งใหม่ของคนไทย ยิ่งเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยิ่งเข้าร่วมวัฒนธรรมใหม่ทางดิจิทัลอย่างกว้างขวาง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

3) หนี้สาธารณะที่ต่ำทำให้เรากระตุ้นเศรษฐกิจได้ 

4) ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ ดูแลลูกค้าไม่ให้ล้มระเนระนาดได้ดีกว่าหลายประเทศ

5) บริษัทขนาดใหญ่มีความมั่นคงดี ยังคงดำเนินกิจการได้ และหลายแห่งได้ร่วมมือภาครัฐ ให้ทั้งเงินและสิ่งของร่วมแก้ปัญหาวิกฤติไวรัสระบาดได้อย่างเต็มที่

จุดอ่อนที่สำคัญคือ 

1) เราพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก 

2) โครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทย แรงงานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ใน 4 Sector ซึ่งค่าแรงโดยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ แล้วก็ได้รับผลกระทบจาก Covid ค่อนข้างเยอะ แล้วก็เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการตกงานหรือรายได้สูญเสียค่อนข้างมาก  

3) ตลาดแรงงานเราค่อนข้างอ่อนแอมาก่อนหน้าแล้ว จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่อง แล้วค่าแรงค่อนข้างคงที่มาหลายปี 

4) สถานการณ์การเงินของภาคครัวเรือน ตอนนี้มีอยู่ 72% ของครัวเรือนไทยที่ทรัพย์สินทางการเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายอยู่ 3 เดือน คือแปลว่า ถ้ารายได้ขาดไป 3 เดือน ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก 

5) ธุรกิจค้าปลีก SME ตอนนี้เราเห็นสัญญาณการปิดกิจการเร่งตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว NPL รายย่อยเขาจะสูงกว่ารายใหญ่ อันนี้ก็เป็นจุดอ่อนต่างๆ ที่เผยตัวชัดเจนขึ้นตลอดเวลา 

หากพิจารณาจากมุมมองของกูรูเศรษฐกิจทั้งสองท่านแล้ว  รัฐบาลต้องปรับมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจจากเดิมที่พึ่งพาต่างประเทศมาก ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ  จึงต้องทบทวนบทบาทไปสู่การพึ่งตนเองให้มากขึ้น  โดยพัฒนาจากเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง ประสานกับภาคการเงินการคลังที่แข็งแกร่งอยู่แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงจะพบทางออกที่เหมาะสม  อนาคตของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย  ล้วนอยู่ในมือของ 3 ประสานทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม

ไม่ได้อยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่มีใครรุ้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

……………………………………………………….