เร่งสปีด 5 เมกะโปรเจค!?! เดินหน้าลงทุนอีอีซี วงเงิน 6.5 แสนล้านบาท ปั้นฮับขนส่งอาเซียนฉลุย

2191

สกพอ.ยืนยัน 5 โครงสร้างพื้นฐานอีอีซีเดินหน้าลงทุนตามเป้าหมาย  ลงนามท่าเรือแหลมฉบัง ก.พ.64 เร่งเจรจาศูนย์ซ่อมอากาศยานขยับเมืองการบินภาคตะวันออกให้เป็นรูปธรรม หวังเบิกจ่ายงบลงทุนครบ 6.5 แสนล้านบาท กระจายเม็ดเงินลงสู่ภาคการผลิตเกี่ยวเนื่องอย่างทั่วถึง

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้กำหนดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ ซึ่งมีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนไปแล้ว 3 โครงการ คือ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3.ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และขณะนี้ภาครัฐกำลังดำเนินการประมูลโครงการที่เหลือเพื่อเชื่อมโยงครบวงจร เป้าหมายการเป็น “ฮับคมนาคมขนส่งภูมิภาค”

EEC GO เดินหน้าลงทุน

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในงานสัมมนา  EEC GO วันที่ 23 ต.ค.2563 จัดโดยเครือกรุงเทพธุรกิจ เปิดเผยว่า

“ผมเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานราง น้ำ ถนน อากาศ เรามีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งปัจจุบัน 5 โครงการสำคัญ ลงนามแล้ว 3 โครงการ ท่าเรือแหลมฉบังจะเจรจาเสร็จปีนี้เพื่อลงนามต้นปีหน้า ก็จะรวมเม็ดเงินลงทุน 6.5 แสนล้านบาท เป็นของรัฐ 42% และเอกชน 58% จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานพร้อมซับพอร์ตนักลงทุน” 

นายโชคชัยกล่าวว่า “การระบาดของโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็น 17% ของจีดีพีไทย ซึ่งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่าผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่าปี 2562 ภายในปี 2566 คืออีก 4 ปีส่วนการเดินทางทั่วโลกจะกลับมาในปี 2567 ทำให้เห็นว่าเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสจะกลับมาเร็วที่สุด ทั้งนี้ไทยถือเป็นประเทศแห่งโอกาสเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากมองโอกาสทางการเดินทางที่จะสนับสนุนมาสู่เศรษฐกิจและการลงทุนในอนาคต ดังนั้น ไทยต้องเร่งเตรียมตัวลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพราะเป็นส่วนที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา รวมทั้งต้องพัฒนาบุคลากรรองรับการขยายตัวภาคธุรกิจด้วย”

ความคืบหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 

-โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลงนามร่วมลงทุนไปแล้วระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และเอกชน ซึ่งแบ่งแผนงานพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ร.ฟ.ท.ส่งมอบบริหารรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คาดว่าจะมีการเข้าบริหารภายในปี 2564
  2. ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตามแผนก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2567
  3. ส่งมอบก่อสร้างช่วงดอนเมือง – พญาไท ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2571

-โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีการกำหนดจะต้องลงทุนสนามบินปีแรกให้ได้ 15.9 ล้านคนต่อปี และรองรับสูงสุดมากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ถือเป็นเงื่อนไขที่บังคับเอกชนไว้ในสัญญา โดยแผนงานเบื้องต้น เอกชนจะเริ่มก่อสร้างในเดือน ธ.ค.2564

ภายหลังลงนามสัญญาไปแล้ว สกพอ.เตรียมส่งมอบพื้นที่ภายใน 18 เดือน จัดทำ EHIA และส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายสำคัญจะต้องทำสนามบินที่เชื่อมต่อกับรถไฟไฮสปีดด้วย เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกัน

-โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ขณะนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังยืนยันที่จะเดินหน้า โดยการบินไทยเป็นบริษัทเดียวที่ทำซ่อมบำรุงอากาศยานในขณะนี้ ดังนั้นจะมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว แต่เป้าหมาย สกพอ.ต้องการอัพเดตความรู้ จึงมีการเจรจาร่วมทุนกับแอร์บัส โดยในขณะนี้เนื่องจากการบินไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับโควิด -19 ทำให้มีการชะลอแผนลงทุนออกไป จากเดิมเริ่มเปิดให้บริการราว 2564 – 2565 จะขยับไปเปิดให้บริการในปี 2567

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่ามีเอกชนรายอื่น ที่ติดต่อสอบถามจะลงทุนในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน แต่เป็นซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวเล็ก ซึ่งจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด -10 ก็อาจส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนชะลอออกไปก่อน เบื้องต้นคาดว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะมีการตัดสินใจจากภาคเอกชนอีกครั้ง โดยในส่วนของภาครัฐได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งในส่วนของการศึกษาและเตรียมพื้นที่พัฒนา

-โครงการท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือก ซึ่งโครงการนี้จะเป็นท่าเรือนำเข้าและส่งออก เพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจากปัจจุบัน 11 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี โดยโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าท่าเรือแหลมฉบังจะมีตู้สินค้าเกินขีดความสามารถการรองรับในปี 2567–2568 การล่าช้าของโครงการนี้อาจส่งผลห่าเรือแหลมฉบังวิกฤตเล็กน้อยช่วงปี 2567–2568 จึงต้องมีการเร่งรัดเจรจาเอกชน โดยคาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้และลงนามสัญญาภายใน ก.พ.2564

ภาคเอกชนหนุนให้เร่งมือดันเศรษฐกิจฟื้น

-นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยยังได้รับความสนใจเรื่องย้ายฐานการลงทุนจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร และเครื่องมือแพทย์ ประกอบกับศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกและสิทธิประโยชน์มากมายในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัว และกลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็ง

-นายภาสกร ลิมมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุ รัฐบาลยังคงตระหนักถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นความพยายามผลักดันโครงการต่างๆ อย่างออกมาโดยเฉพาะการลงทุนในรูปแบบ “ร่วมทุนกับเอกชน” หรือ PPP เพื่อลดภาระเงินลงทุนภาครัฐ

ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเริ่มเห็นความชัดเจนของการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ผ่านการประมูล และได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วในปี 2563 โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา ที่จะเข้ามาเติมปริมาณงานในมือ (Backlog) ให้กับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น ซึ่งไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาส 1/2564 สอดคล้องกับปริมาณงานก่อสร้างจะทยอยหนาแน่นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564