หลังการประกาศลาออกของรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจและทีม ทำให้เกิดคำถามดังขึ้นมาว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะการปรับทีมเศรษฐกิจที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะมารับมือกับปัญหาหลักของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฝืด ยากฟื้นและอาจถึงกับดิ่งเหวถ้าเลือกทีมผิด ใช้ยุทธศาสตร์ผิด ส่งผลกระทบถึงรัฐบาลทั้งทีมอย่างแน่นอน ตัวเลือกที่ปรากฏล้วนเป็นอดีตนายธนาคารมากฝีมือแต่ยังไม่มีคำตอบ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยหดตัวและมีแนวโน้มยากลำบากมากขึ้น
ไม่เกินเดือนสิงหาคม บิ๊กตู่สัญญาว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีแน่ แต่รายชื่อ ครม.เศรษฐกิจประยุทธ์ 2 ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากหลายคนที่นายกฯหมายตาตอบปฏิเสธเพราะไม่อยากเปลืองตัว และกลัวฝ่าด่านการเมืองไม่ได้ ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมและเสียงวิเคราะห์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ต้องการคำตอบว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่จะช่วยให้ประเทศชาติ ประชาชนมีคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมดีขึ้นกว่าเดิมหรือ ซ้ำเติมให้หนักกว่าเก่า ? และที่สำคัญต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
ครม.ชุดใหม่ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจเป็นที่จับตาอย่างสูง เพื่อต้องการเปรียบเทียบกับทีมเก่า (4 กุมาร) ทั้งด้านความสามารถ ผลงานในอดีต คุณวุฒิสำคัญที่จำเป็นในการนำพาเรือเศรษฐิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ไปให้ถึงฝั่ง
ภายในเดือนสิงหาคม บิ๊กตู่รับปากจะได้เห็นแน่นอน แต่ก็ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คาดเดาด้วยสูตรการเมืองต่างๆ ซึ่งไม่พ้นโมเดลดั้งเดิมทางการเมืองคือ เลือกจากโควต้าพรรคการเมือง แต่ครั้งนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยไม่ปกติ การตัดสินใจเลือกจึงขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะถูกใจสาธารณชนและฝ่ายการเมืองไปทั้งสองฝ่ายได้หรือไม่ ประหนึ่งชี้ชะตาแรงต้านแรงหนุน ที่จะเหวี่ยงสู่ครม.ชุดใหม่โดยรวมด้วย
มาดูรายชื่อว่าที่ “รมต.เศรษ๋ฐกิจ” ในสายตาลุงตู่ ว่ามีความลงตัวในการจะเข้ามาแก้ไขเศรษฐกิจสาหัสได้อย่างไร ทั้งสองล้วนเป็นอดีตนายธนาคาร
บิ๊กตู่ระบุว่า ได้มีการทาบทาม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมงานแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากครอบครัวไม่อนุญาต
อีกท่านหนึ่ง มีการทาบทาม นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย แต่ยังไม่มีข่าวการตอบรับมาว่าอย่างไร ส่วน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม ที่มีกระแสว่าจะมาเป็น รมว.พลังงาน, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ที่จะมานั่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูการเบิกจ่ายเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท นั้น บิ๊กตู่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทาบทาม และเจ้าตัวรีบออกตัวมีงานที่ต้องสานต่อ
“เศรษฐกิจ” ที่รอการแก้ไขอยู่ข้างหน้า มันหนักหนาสาหัสไม่รู้ในรอบกี่ปีของวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อโลกและประเทศไทยว่า รุนแรงกว่าที่คาดไว้ และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การจ้างงานและรายได้มีแนวโน้มลดลง
ในช่วงนี้งบประมาณปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท อยู่ในระหว่างการพิจารณา เงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาทที่จะต้องหาคนมาบริหารจัดการ ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีงบลงทุนสูงที่สุดในรอบ 10 ปี หากบริหารจัดการพลาดไปแปลว่าประเทศไทยเราจะมีหนี้ท่วม แต่ถ้าใช้แก้ปัญหาได้ถูกจุด เศรษฐกิจฟื้น ประเทศก็จะดีขึ้น
เดิมพันประเทศที่มีมหาวิกฤติเศรษฐกิจรออยู่ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจขาลง งบประมาณมีจำกัด ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกประเทศที่สงครามการค้าของมหาอำนาจทวีความตึงเครียดสูงขึ้นในทุกวัน โจทย์หินที่ไม่มีโอกาสแก้ตัว รอทีมเศรษฐกิจชุดใหม่และบิ๊กตู่อย่างเบื้องหน้าแล้ว !
………………………………………….