Truthforyou

“รังสิมันต์ โรม” ลั่นต้องอภิปรายเรื่องสถาบันฯให้ได้ มั่นหน้าขู่สภารับ3 ข้อเรียกร้องม็อบ

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หากต้องการหาทางออกให้ประเทศจริงๆ รัฐสภาต้องรับทั้ง 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนเข้าไปพิจารณา ในวันที่ 26 – 27 ตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปในปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

การเปิดสภาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม “ถอยคนละก้าว” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พยายามเกลี้ยกล่อมสังคมว่ากระบวนการรัฐสภาคือสิ่งที่จะช่วยหาทางออกให้กับประเทศนี้ได้ ซึ่งถ้า พล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจดังเช่นบทพูดที่แถลงออกมาแล้วนั้น “ปัญหาสำคัญ” ที่จะอภิปรายกันในสภาก็ควรมีฐานมาจากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของประชาชนที่ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่อยู่ในขณะนี้ นั่นคือ 1. พล.อ.ประยุทธ์และพวกต้องออกไป 2. เปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการที่ประชาชนมีข้อเรียกร้องดังกล่าวก็เนื่องมาจากประชาชนได้เห็นถึงประเด็นปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นสภาจึงควรอภิปรายว่าจะหาทางออกให้กับทั้ง 3 ข้อเรียกร้องอย่างไร

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์คนเดิม เราจึงได้เห็นเนื้อหาในหนังสือขอเปิดอภิปราย ที่ล้วนแต่เป็นการใส่ร้ายประชาชนผู้ชุมนุม ว่าสร้างความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ก่อความชุลมุนวุ่นวาย และที่เลวร้ายที่สุดคือกล่าวหาว่าคุกคามเสรีภาพของสมาชิกราชวงศ์ โดยอ้างเหตุการณ์ขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มาใช้ป้ายสี ทั้งที่เหตุการณ์ที่ว่านั้นมีข้อโต้แย้งเต็มไปหมดว่าผู้ชุมนุมได้กระทำการอย่างที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเส้นทางปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ก็ตั้งใจเอาสภามาเป็นเวทีให้ฝ่ายตัวเองใช้ด้อยค่าประชาชนผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้ถอยอย่างที่ปากพูด และไม่นำข้อเรียกร้องของประชาชนเข้ามาในสภาเลยแม้แต่ข้อเดียว

แน่นอนว่าส่วนตัวผมนั้นไม่เชื่อคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์มานานแล้ว แต่ในเศษเสี้ยวความเชื่อมั่นของผมยังมีให้กับสภา (แม้จะผิดหวังหลายครั้งก็ตาม) สภาที่อย่างน้อยสมาชิก 2 ใน 3 ก็ยังต้องไปหาเสียงกับประชาชนเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง

สภาเลือกได้ว่าจะไม่เล่นตามเกมที่ พล.อ.ประยุทธ์วางไว้ หากยังหวังที่จะยุติการชุมนุมประท้วงลงได้ด้วยดี สภาต้องนำข้อเรียกร้องบนท้องถนนเข้ามาพิจารณากันบนโต๊ะอย่างจริงจัง จริงใจ และตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องรัฐธรรมนูญ และเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่ผ่านมาความพยายามอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์มักถูกขัดขวางอยู่เสมอโดยการอ้างข้อบังคับการประชุมสภาว่า “ห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น” แต่ในวันนี้ถ้าเราไม่โกหกตัวเอง เราควรยอมรับได้แล้วว่าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น “จำเป็น” ต้องมีการกล่าวถึงในสภา

เราสูญเสียกันมามากเท่าไหร่แล้ว กับการที่คนกลุ่มหนึ่งผูกขาดสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้กับตัวเอง แล้วไปกดหัวผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่น เข่นฆ่าผู้อื่นในนามของความจงรักภักดี อ้างความรักของพวกตนมาบังคับขู่เข็ญให้ผู้อื่นต้องรักเหมือนกับที่พวกตนรัก ใส่ร้ายป้ายสีผู้ที่ไม่ได้รักว่าเป็นผู้ที่จ้องจะล้มล้าง ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สุดของโลกใบนี้ ที่สิ่งใดๆ ก็ตามล้วนมีทั้งผู้ที่รักและผู้ที่ไม่รัก โดยที่ผู้ที่ไม่รักก็ไม่ได้หมายความว่าต้องการล้มล้างสิ่งนั้นแต่อย่างใด

การที่ พล.อ.ประยุทธ์กล้าเอาเหตุการณ์ขบวนเสด็จมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามและใส่ร้ายป้ายสีผู้ที่ท้าทายอำนาจของพวกตน ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนให้เห็นแล้วว่าเราจะปล่อยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ตกเป็นเครื่องมือหากินทางการเมืองของบรรดาผู้มีอำนาจทั้งในและนอกรัฐบาลไม่ได้อีกแล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องศึกษาค้นคว้าอย่างเปิดเผยเพื่อหาต้นเหตุ จะต้องสืบสาวไปยังผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และจะต้องร่วมกันเสาะแสวงหาแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งทั้งหมดนี้จะกระทำได้ สภาต้องกล้าอภิปรายเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ผมขอย้ำว่าการปฏิรูปไม่เท่ากับการล้มล้าง ปฏิรูปแปลว่าปรับปรุงให้สมควร ดังนั้นสิ่งที่ถูกปฏิรูปจะยังคงอยู่ และจะอยู่ในแบบที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป มิได้ล่มสลายลง และการที่เราปฏิรูปสิ่งใดๆ ก็เพื่อให้สิ่งที่ถูกปฏิรูปนั้นอยู่ในสถานะที่ “เป็นที่ยอมรับได้” เมื่อเป็นที่ยอมรับแล้ว แม้จะยังมีผู้ที่ไม่รักสิ่งนั้นอยู่ แต่ก็จะไม่มีเหตุผลที่ต้องล้มล้างสิ่งนั้นอีก

แต่ถ้าหากว่าถึงขั้นนี้แล้ว สภายังจะปฏิเสธข้อเรียกร้อง 3 ข้อของประชาชนผู้ชุมนุมตั้งแต่ต้น หากสภายังไม่เปิดให้มีการอภิปรายทุกเรื่องได้อย่างตรงไปตรงมา นั่นเท่ากับสภากำลังผลักข้อเรียกร้องนี้กลับไปสู่ท้องถนนอีกครั้ง

สุดท้ายนี้ผมขอย้ำเตือนกับเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ณ ที่นี้อีกครั้ง ว่ากว่าที่ประชาชนจะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาต้องถอยมาแล้วนับสิบนับร้อยก้าว พวกเขาถูกผู้มีอำนาจผลักให้ต้องถอยจนติดกำแพง และยังผลักดันต่อไปจนร่างกายแทบจะถูกบดบี้ แม้กระทั่งในวันนี้ที่พวกเขาออกมาชุมนุมประท้วง พวกเขาก็ยังใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมหาศาลในการรักษาความสงบและระงับการใช้ความรุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

พวกเราสมาชิกรัฐสภาเลือกได้ ที่จะเป็นผู้เตือนสติผู้มีอำนาจ แล้วบอกให้ถอยกลับไปยังที่ตั้งของตน แต่ถ้ารัฐสภายังเลือกที่จะช่วยผู้มีอำนาจผลักประชาชนติดกำแพงต่อไปจนกระทั่งฟางเส้นสุดท้ายร่วงหล่นลงมา เมื่อความอดทนอดกลั้นของพวกเขาสิ้นสุดลงแล้ว พวกเราจะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากโทษตัวเอง

Exit mobile version