ครบรอบ 75 ปีUN!?! บิ๊กตู่ยันไทยพร้อมหนุน ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฟันฝ่าปัญหา ย้ำโลกต้องเป็นหนึ่งเดียว

2553

บิ๊กตู่แถลงในโอกาสครบรอบ 75 ปี ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลไทยสนับสนุนสหประชาชาติและแนวทางพหุพาคีนิยม ตลอดจนชูแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขปัญหาที่ท้าทาย ในขอบเขตทั่วโลก ขณะที่ความขัดแย้งของสหรัฐและจีน ดำเนินมาถึงจุดอ่อนไหวที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ย่านทะเลจีนใต้ ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ที่มีแนวโน้มกลับมาแพร่หนักในทุกภูมิภาคโลก

องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (United Nations : UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2488 จึงกำหนดให้วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ

74 ปีไทยเป็นสมาชิกUN

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปราศรัยในโอกาสวันสหประชาชาติ 24 ตุลาคม 2563 ว่า “วันสหประชาชาติ”  เป็นวันแห่งการก่อตั้งองค์การสากลระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่มวลมนุษยชาติ 

เนื่องจากครบรอบ 75 ปี แห่งการก่อตั้งสหประชาชาติ ตลอดระยะเวลาดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ความร่วมมือร่วมใจของรัฐสมาชิกเป็นหนทางที่จะนำพวกเราไปสู่การหลุดพ้นจากภัยคุกคามต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โลก ที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทของความท้าทายใหม่ๆ ที่นับวันจะทวีความซับซ้อนและผันแปร 

ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และจะครบรอบ 75 ปี ของการเป็นสมาชิกในปีหน้า ที่ผ่านมาไทยยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยมและสนับสนุนสหประชาชาติ โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ผ่านเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันล้ำค่าของเรา รวมถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุม ซึ่งประเทศต่าง ๆ ชื่นชมไทยประเด็นเหล่านี้

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นของไทยที่จะต่อยอดความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ การมีส่วนร่วมของประชาชนและหุ้นส่วนต่าง ๆ ในการสนับสนุนพันธกิจของไทยในสหประชาชาติ จะส่งเสริมให้ไทยมีบทบาทที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสหประชาชาติสู่การบรรลุเป้าประสงค์ใน 3 เสาหลัก ด้านการรักษาสันติภาพและความมั่นคง การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

กันยายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์,นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมแบบทางไกล และได้กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป โดยย้ำถึงความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐสมาชิกในการฟันฝ่าความท้าทายต่าง ๆ  นอกจากนายกฯ ได้เสนอแนวทาง”วัคซีนและยารักษาโควิด-19 ต้องเป็นสินค้าสาธารณะของโลก” ให้ทุกประเทศจะต้องมีสิทธิในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน สนับสนุนให้สหประชาชาติจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

นานาชาติกังวลความขัดแย้งสหรัฐฯ และจีน

ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติทางออนไลน์กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เติมเชื้อไฟขัดแย้ง ด้วยการโจมตีจีนว่าเป็นที่มาของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ถึงกับกล่าวในการประชุมทั่วไปผ่านวิดีโอว่า “จีนไม่มีความตั้งใจที่จะต่อสู้กับประเทศไหน ไม่ว่าจะเป็นสงครามเย็นหรือร้อน”
  • เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส บอกผ่านวิดีโอว่า ไม่อาจปล่อยให้โลกได้รับผลกระทบจากการแข่งขันแย่งชิงระหว่างจีนและสหรัฐฯได้ เพราะทั้งสองประเทศไม่ลงรอยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการค้าไปจนถึงเรื่องเทคโนโลยี และดูจะขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

-อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “เรากำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่อันตรายมาก โลกเราไม่อาจรับอนาคตที่สองชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดแบ่งโลกทั้งใบเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายมีกฎเกณฑ์ทางการค้าและการเงิน และศักยภาพด้านอินเทอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ เป็นของตัวเอง การแบ่งแยกด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจเสี่ยงนำไปสู่การแบ่งแยกด้านยุทธศาสตร์เชิงภูมิศาสตร์และการทหาร เราต้องทำทุกวิถีทางที่จะเลี่ยงสิ่งนี้” 

เลขาธิการสหประชาชาติบอกว่า การระบาดใหญ่ยิ่งส่งกระทบร้ายแรงเพราะความไม่เท่าเทียมในโลก ผู้คนกำลังเจ็บปวด โลกกำลังลุกไหม้ เขาวอนขอให้ผู้นำโลกเอาโควิด-19 เป็นเครื่องเตือนสติ เป็นการซักซ้อมครั้งใหญ่ก่อนจะเจออุปสรรคอื่น ๆ อีกในภายภาคหน้า