ศิลปินแห่งชาติประกาศยอมเป็นไดโนเสาร์ ไม่ลืมพระคุณจุฬาฯ มหาลัย3พระมหากษัตริย์

15610

จากที่วันนี้(23ต.ค.63) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ถึงความเป็นมาของจุฬาฯ รวมทั้งที่วันนี้ตรงกับวันปิยมหาราช และในหลวงรัชกาลที่9 นั้น

ในชีวิตนี้ผมไม่เคยคิดฝันว่าจะได้เข้าไปเรียนในรั้วจุฬาฯ
เป็นของเกินเอื้อมจริงๆ
ตอนเรียนชั้นมัธยมต้นที่ต่างจังหวัด ก็ไม่เคยคิดว่าจะได้เรียนต่อชั้นมหาวิทยาลัย เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสียแน่นอน จึงคิดว่าชะตาชีวิตคงเป็นช่างทำรองเท้าต่อจากพ่อ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่เคยหวังสูงอยู่แล้ว
ดังนั้นเมื่อสอบได้เข้าจุฬาฯ ก็งงพอกันทั้งลูกและพ่อแม่ ไม่รู้เลยว่าจะเรียนจบได้อย่างไร

ผมผ่านห้าปีในจุฬาฯโดยไม่ได้ใช้เงินพ่อแม่สักบาทเดียว พี่ ๆ ของผมส่งเสีย หาเงินเองบ้าง เขียนการ์ตูนขายบ้าง รวมกับทุนการศึกษาที่จุฬาฯมอบให้ ใช้จ่ายประหยัด ก็เรียนจบจนได้
เด็กต่างจังหวัดเซ่อ ๆ ซ่าๆ อย่างผมเมื่อเข้าไปเรียน จึงเพิ่งจะรู้ว่านี่เป็นมหาวิทยาลัยที่รัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มก่อตั้ง ทรงอยากให้เมืองไทยมีสถาบันการศึกษาเทียบเท่ายุโรปและอเมริกา โครงการสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 6 ทรงดำรัสในวันก่อศิลาพระฤกษ์ว่า “วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม… ตัวเราเป็น รัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์”
และเพิ่งรู้ว่ารัชกาลที่ 9 ทรงนิพนธ์เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ “น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์”

จึงมีกษัตริย์อย่างน้อยสามพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ในสมัยนั้นสะกดไม่มีการันต์เหนือ ณ)
ผมรับปริญญาบัตรจากพระหัตถ์รัชกาลที่ 9 โดยพ่อเต็มใจหยุดทำงาน 3-4 วัน เดินทางจากต่างจังหวัดมาเป็นพยาน
ความรู้ที่ได้รับจากจุฬาฯพาผมไปต่างประเทศ โดยที่คนต่างชาติยอมรับ ทั้งสิงคโปร์และนิวยอร์ก บางด้านเหนือกว่าพวกเขาด้วยซ้ำ แสดงว่าที่เรียนมาคุณภาพใช้ได้
ความรู้เดียวกันนี้ต่อเติมเสริมสร้างทางสายใหม่ให้เดิน เติบใหญ่จนมาเป็นตัวตนทุกวันนี้ ก็เพราะมหาวิทยาลัยที่กษัตริย์ทรงสร้าง
ดังนั้นชาวจุฬาฯผู้รู้รากเหง้าของสถาบันย่อม “ไม่รู้ลืมบูชา พระคุณของแหล่งเรียนมา”
และถ้าหากการรู้ ‘พระคุณของแหล่งเรียนมา’ ทำให้เป็นไดโนเสาร์ ก็ยอม

ที่มา : เฟซบุ๊ก วินทร์ เลียววาริณ