อดีตรองอธิการฯมธ. แนะ กลุ่มอาจารย์ ประกาศหยุดสอน หยุดรับเงินเดือนเปลี่ยนอาชีพ!?!

4218

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการฯ มธ. แนะกลุ่มอาจารย์ ประท้วงหยุดสอน หยุดรับเงินเดือนเปลี่ยนอาชีพ จะได้ไม่มีใครว่า

จากกรณีที่ได้มีการชุมนุมในพื้นที่ กทม. ของกลุ่มคณะราษฎร สืบเนื่องมาจากการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม จนมาถึงวันนี้ ก็ได้มีการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมทั่วกรุงเทพ และต่างจังหวัด ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ตุลา ก็ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่แยกปทุมวัน จากนั้นการมีเหล่าแกนนำถูกจับกุม ในข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน ต่อมาก็ได้มีกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาประมาณ 50 คน เดินเท้ามายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นแถลงการณ์เรื่อง หยุดสลายการชุมนุมและขจัดผู้เห็นต่าง สร้างทางออกให้ประเทศไทย โดยมีรายชื่อแนบท้ายจำนวน 1,118 รายชื่อ แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม รวมถึงให้ปฏิรูปสถาบัน

ล่าสุดทางด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวผ่านเฟสบุ๊ค โดยระบุข้อความว่า

เมื่อผมเห็นข่าวว่า มีอาจารย์ 1,118 คน เข้าชื่อจี้ให้นายกรัฐมนตรีลาออก และยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ตอบสนอง จะนัดหยุดสอนทั่วประเทศ ผมคิดอยู่นานว่าผมควรจะแสดงความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของอาจารย์กลุ่มนี้ หรือไม่
วันนี้ได้ข่าวอีกว่า มีอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ประกาศจะหยุดไปสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จนกว่ามหาวิทยาลัยจะเลิกรับใช้อำนาจนิยม หรืออำนาจเผด็จการ เพียงเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจที่มีการชุมนุมของนักศึกษา และมีนักศึกษาบางคนไปฉีกพระบรมฉายาลักษณ์ และระบุว่าเป็นเรื่องไม่สมควร และไม่ควรจะเกิดขึ้น
การแสดงออกของอาจารย์ท่านนี้ ย่อมมีนัยยะประการใดประการหนึ่งใน 2 ประการ ประการแรก ไม่เห็นด้วยว่าการฉีกรูป พระบรมฉายาลักษณ์ เป็นการไม่สมควร ประการที่ 2 อาจารย์ท่านนี้ไม่ทราบเลยว่ามีการกระทำดังกล่าว นึกว่ามีแต่การชุมนุมอย่างเดียว
เห็น 2 กรณีนี้แล้วจึงอดที่จะแสดงความเห็นไม่ได้ ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า รายชื่อ 1,118 รายชื่อนั้นไม่ใช่อาจารย์ทั้งหมด มีทั้งอาจารย์ นักวิชาการอิสระ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ฯลฯ หน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยก็คือ หน้าที่การสอน ทำวิจัย เขียนตำราและบทความทางวิชาการ แต่หน้าที่หลักที่จะไม่ทำไม่ได้ก็คือหน้าที่สอน เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง หากอาจารย์จะเอาเรื่องการเมืองนอกมหาวิทยาลัยมาปะปนกับหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของตัวเองภายในมหาวิทยาลัย
การจะออกไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองนอกมหาวิทยาลัย อาจารย์จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองในมหาวิทยาลัยให้สมบูรณ์ก่อน สำหรับอาชีพอาจารย์ สิ่งสุดท้ายที่จะนำมาเป็นเครื่องต่อรองเรื่องใดก็ตาม คือการประกาศหยุดสอน เพราะนั่นเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักจรรยาบรรณของอาจารย์โดยตรง หากจะประท้วงรัฐบาลด้วยการหยุดสอนจริงๆ มีอยู่ 2 วิธีที่จะทำให้การหยุดสอนมีความชอบธรรมได้
หนึ่งคือ ประกาศหยุดรับเงินเดือนไปด้วยพร้อมกัน หรือ
สองคือ เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นไปเลย
เช่นนี้ จะไม่มีใครว่าอะไรท่านได้อย่างแน่นอน

เมื่อผมเห็นข่าวว่า มีอาจารย์ 1,118 คน เข้าชื่อจี้ให้นายกรัฐมนตรีลาออก และยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล…

Posted by Harirak Sutabutr on Thursday, October 22, 2020