Truthforyou

รฟม.ยื่นอุทธรณ์สู้?!? ปมรื้อเกณฑ์TOR ‘สีส้ม’ ศาลสั่งใช้เกณฑ์เก่า บีทีเอสพร้อมร่วมประมูลทุกเงื่อนไข

การประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้านยังไม่มีข้อยุติ รฟม.เตรียมยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งคุ้มครอง มั่นใจมีประเด็นชี้แจงได้ เผยยังเดินหน้ารับซอง 9 พ.ย. ยกเว้น กก.มาตรา 36 จะมีมติเปลี่ยนแปลง รฟม.ยังยืนยันว่าการจะกำหนดใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับ รฟม.ที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันตามคำสั่งศาลถือได้ว่าต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม ระหว่างยื่นอุทธณ์นี้รฟม.มีกำหนดเปิดรับข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.เหมือนเดิม  ดังนั้นบริษัทเอกชนก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีการใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา เพราะอยู่ที่ดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุด ขณะที่บีทีเอสยืนยันพร้อมเข้าร่วมประมูลตามกำหนด

กรณีขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นที่สนใจของสาธารณชน รอดูผลพิจารณาของศาลว่าที่สุดแล้ว จะเป็นบรรทัดฐานแก่หน่วยราชการอื่นๆในการจัดทำเกณฑ์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐว่า จะต้องรอบคอบขนาดไหน ประกาศไปแล้วเปลี่ยนใหม่ทำได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่ ศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19  ต.ค. ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยให้ รฟม.ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น  

ในทางคดี ผู้ถูกฟ้อง (รฟม. และคณะกรรมการ มาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562) มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ายใน 30 วัน ซึ่งจากการหารือกับฝ่ายกฎหมายมีประเด็นที่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มอบอำนาจให้นายกิตติกร ตันเปาวร์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ มาตรา 36 และ รฟม.หารือร่วมกับอัยการสูงสุด เพื่อจัดทำเอกสาร และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง เพื่อใช้หลักเกณฑ์ที่มีการแก้ไขใหม่ในการพิจารณาการประมูล

ทั้งนี้ ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ระงับการคัดเลือก ดังนั้น ขั้นตอนในการประมูลยังเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ ยื่นซองวันที่ 9 พ.ย. 63 ซึ่งหลังจากนั้น 14 วันจึงจะเปิดซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ และพิจารณากำหนดวันที่จะมีการเปิดซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการเงิน ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ มาตรา 36 จะมีการประชุมในช่วงวันที่ 1-8 พ.ย. 63 เพื่อพิจารณาแนวทาง

ส่วนการยื่นอุทธรณ์นั้น รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ดำเนินการตามสิทธิ์ทางคดีเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง ขณะเดียวกัน การประมูลยังต้องทำไปตามขั้นตอน เนื่องจากคดีหลักคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาอีกนาน ซึ่งเป็นการดำเนินการในแนวทางเดียวกับโครงการอื่นที่มีประเด็นฟ้องร้อง จะไม่รอผลของคดีหลัก

“หากมีการรับซองและจะมีการพิจารณาด้านคุณสมบัติ (ซอง 1) และประกาศผลผู้ผ่านด้านคุณสมบัติ และเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดข้อเสนอซอง 2 (เทคนิค) และซอง 3 (ราคา) แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งที่ได้มีการยื่นอุทธรณ์ไว้ออกมา ตามหลัก คณะกรรมการมาตรา 36 จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้ใช้เกณฑ์เดิม”

ในส่วนของกรอบเวลารับซองวันที่ 9 พ.ย.จากเอกชนนั้น ก็จะมีระยะเวลาจนกว่าจะเปิดซองประมูลซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ยังไม่เกี่ยวข้องกับการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 ประกาศไปก่อนหน้านี้ แต่ยืนยันว่าในการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกประมูลนั้นจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 36 ซึ่งในเอกสารเปิดประมูลได้มีการระบุสงวนสิทธิ์ที่ รฟม.สามารถยกเลิกการประมูลได้ แม้จะอยู่ในขั้นเจรจาต่อรองราคาก็ตาม

บีทีเอสพร้อมยื่นซองประกวด ไม่หวั่นเกณฑ์เก่าหรือใหม่

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า กลุ่ม BTS มีความพร้อมเสนอซองประมูลและได้เตรียมข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งสอดรับกับหลักเกณฑ์ที่ รฟม.กำหนด ดังนั้นไม่ว่าจะมีการกำหนดใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาข้อเสนอในอนาคต กลุ่ม BTS ก็มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล ส่วนความคืบหน้าของการจัดหาพันธมิตรในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ยังไม่ขอเปิดเผย

Exit mobile version