รัฐบาลชูไทย “ศูนย์กลางผลิตถุงมือยางโลก”!?! ใช้ในประเทศพร้อมส่งออก ทำราคายางพุ่งทะลุ 65 บาทสูงสุดในรอบ 3 ปี

2469

จากน้ำตาสู่รอยยิ้มชาวสวนยางพาราที่วันนี้ราคาพุ่งไม่หยุด จาก 60 บาทต่อก.ก.ทะยานแตะ 67 บาทในไม่ช้า โอกาสในวิกฤติของคนเกษตรชาวสวนยาง เมื่อโควิด-19 อาละวาดทั่วโลกเศรษฐกิจดิ่งเหว หดตัวยากฟื้น แต่เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ เคยขายแต่วัตถุดิบราคาถูกผลักดันเท่าไหร่ ราคาก็ไม่ขึ้น วันนี้สถานการณ์เป็นใจ อาศัยนโยบายที่ถูกต้องของภาครัฐ และความขยันอดทนของภาคเอกชนและประชาชน โอกาสที่ยางพาราไทยจะเป็น “ทองคำขาว” อย่างแท้จริงมาถึงแล้ว คนไทยต้องไม่ท้อเร่งพัฒนาขีดความสามารถทั่วด้านเพื่อรองรับโอกาสทองที่รอตรงหน้า สู้สู้!!!

จากขี้ยางเป็น “ทองคำขาว”

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ราคายาง (ณ วันที่ 21 ต.ค.63) ทะยานไม่หยุดเฉียดทะลุกิโลกรัมละ 65 บาท และคาดการณ์ว่ายังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดกลางรับซื้อยางของ กยท.เฉลี่ยทั้ง 3 ตลาด สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดตลาดที่กิโลกรัมละ 64.97 บาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 บาท/กก. ซึ่งราคาใกล้เคียงราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยขณะนี้ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 59.59 บาท น้ำยางสด (DRC100%) กิโลกรัมละ 59 บาท และก้อนถ้วย (DRC 50%) กิโลกรัมละ 43 บาท จึงนับได้ว่าเป็นราคาสูงที่สุดรอบกว่า 3 ปี

ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ตลาดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ(กก.) 65 บาท หรือ เฉลี่ย รวม กับตลาดสงขลาแล้วราคายางแผ่นรมควัน ปิดตลาดที่ กก. 64.97 บาท และคาดการณ์ว่ายังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ 

ทั้งนี้ จากที่คาดการณ์ไว้เชื่อว่าราคายางยังคงไปต่อได้อีก ซึ่ง

-ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อราคามาจากเศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้น 4.9% และแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ประเทศเพื่อนบ้านผู้ผลิตยางธรรมชาติ ประสบปัญหาพายุและปริมาณฝนเพิ่มขึ้นเดือนตุลาคมนี้ ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลงตามไปด้วย

ปัจจัยภายในประเทศเดือน ต.ค. – พ.ย. ของทุกปี เป็นช่วงที่ราคายางพาราจะออกสู่ตลาดมากที่สุดประมาณ 10 % ของปริมาณน้ำยางที่ผลิตได้ แต่ในปีนี้เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนแรงงานงานกรีด ในขณะที่ภาคใต้มีฝนตกชุกกว่าทุกปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการใช้เริ่มมีมากขึ้น ทั้งการผลิตถุงมือยาง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว

นโยบายรัฐถูกต้องสอดคล้องสถานการณ์ ทำราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการของตลาดโลกและประเทศจีน การที่รัฐบาลชูใช้ “การตลาดนำการผลิต” จะทำให้ยางพาราไทยมีโอกาสส่งออกมากกว่าประเทศอื่น เพราะใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง สิ่งที่สำคัญ ขอให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ ร่วมมือในการปรับตัว จะทำตามที่เคยชินโดยไม่สนใจตลาดและคู่แข่งไม่ได้ 

“ส่วนมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศจากภาครัฐ และการลดพื้นที่ปลูกยางจะมีส่วนช่วยยกระดับราคายางในระยะยาวได้อย่างแน่นอน สำหรับโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขอให้เกษตรกรมั่นใจว่ารัฐบาลมีมาตรการสร้างเสถียรภาพราคายาง และดูแลชาวสวนยางในยามที่ราคาตกต่ำ แต่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ก็ต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน” ผู้ว่าการยางกล่าว

ส่งออกยางอนาคตสดใส

ผู้ว่าการยางฯกล่าวว่า “ความต้องการใช้ยาง ในขณะนี้กลับมาเร็วและแรงมาก จะเห็นได้จากราคายางในตลาดล่วงหน้า ไซคอม(SICOM)สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น(TOCOM) เป็นบวกทั้งหมด เช่นเดียวกับจีนเป็นประเทศเดียวที่ จีดีพี ขยายตัว แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มราคายางในเร็วๆนี้อาจแตะ กก.ละ 67 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ควรระวัง กรณีเมื่อราคาปรับตัวสูงเกินไป จะส่งผลให้มีการเบรกซื้อในตลาดล่วงหน้าได้ ซึ่งจะกระทบกับราคาที่เกษตรกรได้รับทันที ดังนั้น กยท.จึงต้องวางแนวทางรองรับเอาไว้ล่วงหน้า โดยจะใช้มาตรการไล่ซื้อตามตลาดของ กยท.ทั้ง108 แห่ง และ มีโครงการรับฝากน้ำยางไว้กับเกษตรกร เพื่อชะลอการออกสู่ตลาด ทั้งหมดจะพิจารณาใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

 

ส่วนแนวโน้มราคายางใน ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ คาดว่ามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยน้ำยางที่ออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากฝนตกในภาคใต้ ปริมาณสต็อกยางปรับตัวลดลง โดยสต็อกยางตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563 มีจำนวน239.149 พันตัน ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 3.318 พันตัน หรือ 1.37% และลดลง 45.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านสต็อกยางตลาดล่วงหน้าโตเกียว ณ เดือนมิ.ย. 2563 มีจำนวน 8.976 พันตัน ลดลงจากไตรมาสก่อน ที่ระดับ 718 พันตัน หรือ 7.41% และลดลง 28.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “การตลาดนำการผลิต” มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า ต่อยอดและลดข้อจำกัดผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ เจาะตลาดผลิตภัณฑ์ยางเฉพาะกลุ่ม ขยายตลาดต่างประเทศ ลดต้นทุนการผลิต

โครงการสำคัญเกิดขึ้นหลายโครงการ เช่น 

1.โครงการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสินค้ายางพาราให้แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยางพารา 

2.แผนผลักดัน“สตาร์ตอัพ” เป็นการให้ความช่วยเหลือแหล่งทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ และ 

  1. โครงการรับเบอร์วัลเล่ย์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมยางพาราครบวงจรของโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าและดึงดูดนักลงทุน กยท.คัดเลือกพื้นที่ในจังหวัด นครศรีธรรมราช คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

การแพร่ระบาดของโควิด19 แม้จะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ยางพาราในภาพรวมช่วงต้นปี แต่การส่งออกถุงมือยางของไทย เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย กลับมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8-15% ด้วยโอกาสอันน่าสนใจ บวกกับศักยภาพของประเทศ ตามข้อมูลของ EIC

-ไทยส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ 3.78 หมื่นล้านบาท (1.200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี) 4 เดือนแรกส่งออก 7,321 ล้านคู่ ขยายตัวคิดเป็น 23%

-ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกปี 2563 เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ประเทศส่งออกถุงมือยางอันดับ 1 มาเลเซีย 62%, ประเทศไทย 13% และอื่นๆ 25% (จีน,อินโดนีเซีย,เวียดนาม,เบลเยี่ยม)

-กำลังผลิตของประเทศไทย 25,000 ล้านชิ้นต่อปี  ผลิตจริงปัจจุบันได้ 21,371 ล้านชิ้น, กำลังผลิตมาเลเซีย 125,000 ล้านชิ้นต่อปี, ผลิตจริง 63,000 ล้านชิ้น

รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก” ที่คาดว่าในปีนี้ จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จะบูรณาการการทำงานกับหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงพาณิชย์ผลักดันเรื่องการตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อถุงมือยาง การทำงานร่วมกันของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง เรื่องงานวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีถุงมือยาง และควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าเพื่อมุ่งเป้าตลาดต่างประเทศ”

พึ่งส่งออกอย่างเดียวไม้เสถียร

รัฐบาลได้เดินหน้าในเรื่องการจัดการอุปสงค์อุปทานยางพาราในประเทศ เพราะตระหนักดีว่าจะพึ่งพิงการส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมา มีการเร่งรัดการใช้ยางพาราภายในประเทศของหน่วยงานภาครัฐ 

-ปี 2563-2565 มีแผนการใช้ยางพาราของกระทรวงคมนาคม ปริมาณ 1 ล้านตัน ในโครงการอุปกรณ์ทางด้านการจราจร มากไปกว่านั้น ยังมีมาตรการลดอุปทานยาง ตั้งเป้าทำโซนนิ่งพื้นที่ 2 ล้านไร่ ที่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนหรือปลูกพืชผสมผสาน คาดจะลดปริมาณการผลิตได้ประมาณ 5 แสนตัน เบื้องต้น ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะทำการโซนนิ่งได้ 4 แสนไร่